บริษัทได้ตระหนักถึงความสำคัญของการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน และมีความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจอย่างมีคุณธรรม ภายใต้กรอบการกำกับดูแลกิจการที่ดีโดยยึดหลักธรรมาภิบาล และจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งมีความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย ให้บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจได้ด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม และสามารถตรวจสอบได้

เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทมีนโยบายการกำหนดความรับผิดชอบ แนวปฏิบัติ และข้อกำหนดในการดำเนินการที่เหมาะสม ในการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันในทุกกิจกรรมทางธุรกิจของบริษัทและเพื่อให้การตัดสินใจ และการดำเนินการทางธุรกิจที่อาจมีความเสี่ยงด้านการทุจริตคอร์รัปชันได้รับการพิจารณาและปฏิบัติอย่างรอบคอบ บริษัทจึงได้จัดทำนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันเป็นลายลักษณ์อักษรขึ้น เพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจนในการดำเนินธุรกิจ และพัฒนาสู่องค์กรแห่งความยั่งยืน

นโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน

  • บุคลากรของบริษัทต้องไม่เรียกร้อง ดำเนินการ หรือยอมรับการคอร์รัปชัน ในทุกรูปแบบทั้งทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อประโยชน์ต่อ องค์กร ตนเอง ครอบครัว เพื่อนและคนรู้จัก หรือเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ โดยครอบคลุมถึงทุกธุรกิจในทุกประเทศและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับบริษัท
  • บริษัทจะต้องสอบทานการปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันนี้อย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนทบทวนแนวทางปฏิบัติ และข้อกำหนดในการดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ ระเบียบ ข้อบังคับ และข้อกำหนดของกฎหมาย ทั้งนี้ การฝ่าฝืนกระทำการใดใดอันเป็นการสนับสนุน ช่วยเหลือ หรือให้ความร่วมมือ กับการคอรัปชั่นจะได้รับการพิจารณาโทษตามระเบียบของบริษัท
เอกสาร
นโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน

มาตรการปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง

เพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านทุจริตคอร์รัปชันที่อาจเกิดขึ้นต่อกลุ่มบริษัท กรรมการ ผู้บริหารและพนักงานของกลุ่มบริษัทต้องปฏิบัติตามนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน การให้และรับผลประโยชน์อื่นใดกับผู้มีส่วนได้เสียของบริษัท ให้พิจารณาตามข้อกำหนด ดังต่อไปนี้

  • การให้และรับเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์อันเหมาะสมตามมาตรฐานจริยธรรม
  • การให้และรับมิได้มีเจตนาในการแสวงหาประโยชน์หรือเพื่อให้มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจทางธุรกิจ
  • การให้และรับต้องเป็นสิ่งที่ไม่ผิดกฎหมาย
  • การให้และรับต้องไม่ขัดต่อนโยบายและกฎระเบียบของกลุ่มบริษัท
  • การให้และรับต้องไม่ขัดต่อนโยบายของคู่ค้าธุรกิจ ภาครัฐ หรือผู้มีส่วนได้เสีย

นโยบายที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน

  • นโยบายการรับ การให้ของขวัญ บริการต้อนรับ หรือประโยชน์อื่นใด
  • นโยบายค่าเลี้ยงรับรอง
  • นโยบายการบริจาคเพื่อการกุศลและเงินสนับสนุน
  • นโยบายการมีส่วนร่วมทางการเมือง
  • นโยบายการขัดแย้งทางผลประโยชน์

มาตรการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน

  • การประเมินความเสี่ยงด้านการทุจริตคอร์รัปชัน
  • การจัดทำนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน
  • การสอบทานประวัติของบุคลากรและผู้มีส่วนได้เสียทางธุรกิจ
  • การควบคุมภายใน
  • จริยธรรมธุรกิจ กับการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน
  • มาตรการการเปิดเผยการจัดจ้างพนักงานของรัฐ

การบังคับใช้นโยบายต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน

  • นโยบายต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันมีผลบังคับใช้กับบุคคลากรของบริษัท โดยมีผลตั้งแต่วันที่คณะกรรมการบริษัทได้ลงมติอนุมัตินโยบายต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน
  • การปรับปรุง แก้ไข เปลี่ยนแปลง ตีความ ยกเลิก จะต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทก่อนทุกครั้ง

กระบวนการบันทึกและเก็บรักษาข้อมูล

  • กระบวนการบันทึกและเก็บรักษาข้อมูลที่สำคัญของบริษัทเป็นไปอย่างถูกต้อง ครบถ้วน โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ โดยมีระบบควบคุมภายในและการตรวจสอบภายในอย่างมีประสิทธิภาพและเชื่อถือได้ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการตรวจสอบ
  • สำหรับแนวทางการดำเนินการเกี่ยวกับการบันทึกและเก็บรักษาข้อมูลให้เป็นไปตามนโยบายการสื่อสารและการเปิดเผยข้อมูล ประกาศ ระเบียบ และนโยบายที่เกี่ยวข้อง

แนวปฏิบัติ

  • บริษัทกำหนดให้นโยบายต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันและมาตรการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจและเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ ผู้บริหาร ผู้บังคับบัญชา พนักงาน และบุคลากรของบริษัททุกคน เพื่อให้การปฏิบัติด้านการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันบรรลุตามนโยบายที่กำหนดไว้อย่างเหมาะสม ตลอดจนทบทวนนโยบายและแนวทางการปฏิบัติเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ ระเบียบข้อบังคับ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
  • บริษัทกำหนดให้บุคลากรของบริษัทต้องปฏิบัติอย่างระมัดระวังต่อรูปแบบการคอร์รัปชันดังนี้
    • การให้และรับสินบน
    • การรับ การให้ของขวัญ หรือผลประโยชน์อื่นใด
    • ค่าเลี้ยงรับรอง
    • การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และค่าใช้จ่ายอื่นให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ
    • การให้ความช่วยเหลือทางการเมือง
    • การรับบริจาค การบริจาคเพื่อการกุศล การสาธารณะประโยชน์ และการให้หรือการรับเงินสนับสนุน (Donation, Sponsorships)
    • การจ่ายค่าอำนวยความสะดวก
    • การว่าจ้างพนักงานรัฐ/เจ้าหน้าที่รัฐ (Revolving Door)
    • การขัดแย้งทางผลประโยชน์ (Conflict of Interest)
  • บริษัทมุ่งมั่นที่จะสร้างและรักษาวัฒนธรรมองค์กรที่ยึดมั่นว่าการคอร์รัปชันเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการคอร์รัปชันในการทำธุรกรรมกับภาครัฐหรือภาคเอกชน
  • กรรมการบริษัท ผู้บริหาร บุคลากรของบริษัท พนักงานทุกระดับ ไม่พึงละเลยหรือเพิกเฉย เมื่อพบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายการคอร์รัปชันที่เกี่ยวข้องกับบริษัท โดยต้องแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาหรือบุคคลที่รับผิดชอบทราบและให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามนโยบายการแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับการกระทำผิดและการทุจริตหรือระเบียบที่บริษัทกำหนด รวมทั้งจัดให้มีช่องทางในการรับข้อร้องเรียนจากบุคคลภายนอก
  • บริษัทต้องให้ความเป็นธรรมและคุ้มครองพนักงานที่ปฏิเสธคอร์รัปชันหรือแจ้งเรื่องคอร์รัปชันที่เกี่ยวข้องกับบริษัท โดยบริษัทจะไม่ลดตำแหน่ง ลงโทษ หรือให้ผลทางลบต่อพนักงานที่ปฏิเสธการคอร์รัปชัน แม้ว่าการกระทำนั้นจะทำให้บริษัทสูญเสียโอกาสทางธุรกิจ
  • กรรมการและผู้บริหารทุกระดับของบริษัทจะต้องแสดงถึงความซื่อสัตย์ และเป็นแบบอย่างที่ดีในการปฎิบัติตามนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน
  • นโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันนี้ให้ครอบคลุมไปถึงกระบวนการบริหารงานบุคคล ตั้งแต่การสรรหาหรือการคัดเลือกบุคคล การเลื่อนตำแหน่ง การฝึกอบรม การประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงาน โดยกำหนดให้ผู้บังคับบัญชาทุกระดับสื่อสารทำความเข้าใจกับพนักงาน เพื่อใช้ในกิจกรรมทางธุรกิจที่อยู่ในความรับผิดชอบและควบคุมดูแลการปฎิบัติตามนโยบายให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
  • การดำเนินการใดๆ ตาม นโยบายต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นให้ใช้แนวปฏิบัติตามที่กำหนดไว้ในนโยบายนี้ และให้สอดคล้องกับนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี แนวปฏิบัติของบริษัท รวมทั้งระเบียบ และคู่มือการปฎิบัติงานของบริษัทที่เกี่ยวข้อง
  • บริษัทกำหนดให้บอกกล่าวประชาสัมพันธ์นโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันผ่านสื่อทั้งภายในและภายนอก เช่น ประกาศ เว็บไซต์ของบริษัท และรายงานประจำปี โดยนโยบายดังกล่าวของบริษัทเป็นการปฏิบัติภายใต้กฎหมายของประเทศไทยในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน
  • ในกรณีที่มีข้อสงสัย ที่อาจจะส่งผลกระทบทางกฎหมาย ให้ขอคำปรึกษาจากฝ่ายกฎหมายอย่างเป็น ลายลักษณ์อักษร หรือในเรื่องที่มีความสำคัญประการอื่น ให้ขอคำปรึกษา สอบถาม กับหน่วยงานกำกับการปฏิบัติตามกฏเกณฑ์ (Compliance)
หน่วยงานกำกับการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ (Compliance) บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ในกรณีที่มีข้อสงสัย ให้ติดต่อหรือสอบถามได้ที่

อีเมล

CRC_Compliance@central.co.th

ในวันที่ 11 กรกฎาคม 2567 บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ผ่านการเป็น CAC Change Agent และได้รับตราสัญลักษณ์ ในโครงการพิเศษโดยแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (CAC) ซึ่งบริษัทได้ประกาศเจตนารมณ์เข้าร่วมไว้ในวันที่ 20 มีนาคม 2566 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายเครือข่ายธุรกิจที่โปร่งใสไปยังบริษัทคู่ค้า โดยการสนับสนุนให้บริษัทคู่ค้าของบริษัทเข้าร่วม CAC

วันที่ 20 มีนาคม 2566 บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ขอประกาศความตั้งใจที่จะเข้าร่วมเป็น CAC Change Agent ในโครงการพิเศษโดยแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (CAC) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายเครื่อข่ายธุรกิจที่โปร่งใสไปยังบริษัทคู่ค้า โดยการสนับสนุนให้บริษัทคู่ค้าของบริษัทเข้าร่วม CAC

ในเดือน มิถุนายน 2565 CRC ของเรา ได้รับการรับรองในฐานะสมาชิกแนวร่วม ต่อต้านคอร์รัปชัน ของภาคเอกชนไทย (Thai Private Sector Collective Action Against Corruption : CAC) จากคณะกรรมการแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย โดยสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD)

CAC Success Story

โดยคุณญนน์ โภคทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัล รีเทล จำกัด (มหาชน) เล่าถึงเรื่องราวการประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ มุมมองแนวคิดในการบริหารธุรกิจอย่างโปร่งใส เพื่อเป็นแรงจูงใจให้บริษัทอื่นเล็งเห็นความสำคัญในการต่อต้านคอร์รัปชัน สร้างความยั่งยืน และสนใจที่จะพัฒนาระบบต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันร่วมกับ CAC

โดยเน้นย้ำถึง “ความโปร่งใส คือสิ่งที่ดีที่สุด ที่จะป้องกันการทุจริต และไม่เป็นธรรม”

เซ็นทรัล รีเทล เป็นสมาชิกแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย

เซ็นทรัล รีเทล เป็นสมาชิกแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (Thai Private Sector Collective Action Against Corruption: CAC) ในเดือนมิถุนายน 2565

นับจาก เซ็นทรัล รีเทล ได้เข้าตลาดหลักทรัพย์ ในปี 2563 บริษัทฯ มีความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจตามหลักธรรมาภิบาล นำไปสู่เป้าหมายความยั่งยืนของบริษัทฯ ดังนั้น โครงการการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย เป็นโครงการที่คณะกรรมการและฝ่ายบริหาร เห็นความสำคัญและร่วมมือกันผลักดัน

โดยไตรมาส 2 ปี 2564 ถึงไตรมาส 1 ปี 2565 พวกเราชาวเซ็นทรัล รีเทล ได้ร่วมแรงและดำเนินการตามกรอบของแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (CAC) จนสามารถได้รับการรับรองฐานะสมาชิกแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย ในเดือนมิถุนายน 2565 เร็วกว่ากำหนด 6 เดือน

ขอขอบคุณทุกความมุ่งมั่นตั้งใจของทีมงานและการสนับสนุนจากทุกหน่วยธุรกิจ (BU) ภายใต้กลุ่มเซ็นทรัล รีเทล อันเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จในครั้งนี้ และเชื่อมั่นว่าพนักงานของเราทุกคนจะดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใสเป็นธรรม เพื่อความยั่งยืนของบริษัทฯ ต่อไป

ติดต่อผู้ประสานงาน

อีเมล: CRC_Compliance@central.co.th

กิจกรรม