ข่าวความยั่งยืน

“ท็อปส์” เดินหน้าภารกิจสร้างความยั่งยืน ตั้งเป้าลดปริมาณขยะอาหารเป็นศูนย์ จับมือ มูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ ส่งต่ออาหารส่วนเกิน เป็นมื้ออาหารที่มีคุณค่า

กรุงเทพฯ 7 กันยายน 2565 - ท็อปส์ ในเครือเซ็นทรัล รีเทล ตอกย้ำภาพผู้นำฟู้ดรีเทลของไทย ขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืน เดินหน้าภารกิจส่งต่ออาหารส่วนเกินผ่านโครงการ “Food For Good Deed อาหารปันสุข” ปีที่ 4 ส่งมอบอาหารส่วนเกินที่มีคุณภาพจากท็อปส์ มาร์เก็ต, เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์, แฟมิลี่มาร์ท 129 สาขาทั่วประเทศ และ ศูนย์กระจายสินค้าอาหารสด ให้กับ 700 ชุมชนที่ขาดแคลน ผ่านความร่วมมือกับ มูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ (SOS Thailand) ที่มีความเชี่ยวชาญเป็นตัวกลางในการร่วมจัดการอาหารส่วนเกิน ช่วยโลกลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากกระบวนการจัดการขยะอาหารได้มากถึง 1.5 ล้านกิโลกรัม พร้อมประกาศเจตนารมย์เป็นองค์กรค้าปลีกสีเขียว สร้างความยั่งยืนให้กับชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ตั้งเป้าลดการเพิ่มปริมาณขยะอาหาร หรือ อาหารส่วนเกินจากการดำเนินธุรกิจให้เป็นศูนย์ พร้อมดันทุกสาขาเข้าร่วมโครงการ

นายจักรกฤษณ์ จตุปัญญาโชติกุล รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายการตลาด ประชาสัมพันธ์ และกิจกรรมเพื่อสังคม บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด ในเครือเซ็นทรัล รีเทล กล่าวว่า “ ท็อปส์ ในฐานะผู้นำธุรกิจฟู้ดรีเทลของไทย มุ่งให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการอาหารส่วนเกินเพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะอาหารถือเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญในการดำรงชีวิต และไม่ควรถูกทิ้งอย่างสูญเปล่า จากการประเมินขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) พบว่า 1 ใน 3 ของอาหารถูกทิ้งเป็นขยะอาหาร หรือประมาณ 1.6 พันล้านตันต่อปี ในขณะที่ผู้คนยังต้องเผชิญกับปัญหาความหิวโหยและการขาดแคลนอาหาร ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นประเด็นที่ทั่วโลกต่างให้ความสนใจ และทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันแก้ไขอย่างจริงจัง เพราะนอกจากจะขจัดความหิวโหยแล้ว ยังช่วยลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากการสะสมของขยะอาหารทำให้เกิดการเน่าเสีย ปล่อยก๊าซมีเทนที่มีศักยภาพเป็นก๊าซเรือนกระจก ส่งผลให้โลกร้อนมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 25 เท่า รวมถึงการฝังกลบนอกจากสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย ก่อให้เกิดมลพิษทางสิ่งแวดล้อมมากมาย

ท็อปส์ มุ่งมั่นและมีวิสัยทัศน์เป็นองค์กรค้าปลีกสีเขียว มีเป้าหมายสู่การกำจัดขยะอาหารให้เป็นศูนย์ (Net Zero) ผ่านการบริจาคอาหารส่วนเกิน ภายใต้โครงการ ‘Food For Good Deed อาหารปันสุข’ ที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 โดยกระบวนการหลักที่เป็นหัวใจสำคัญของโครงการ คือ การบริหารจัดการอาหารส่วนเกินตั้งแต่ต้นทางสู่ปลายทางอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นระบบ ตั้งแต่การฝึกอบรมพนักงาน เริ่มต้นจากการคัดเลือกอาหารที่ยังรับประทานได้ ได้แก่ เบเกอรี่, ผักและผลไม้ทุกชนิด, ผลิตภัณฑ์จากนม, อาหารสำเร็จรูปและเครื่องปรุงต่าง ๆ โดยพนักงานของ ท็อปส์ และ เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิ SOS Thailand จะร่วมกันตรวจสอบคุณภาพอาหารอย่างละเอียดตามมาตรฐานที่กำหนด พร้อมขนส่งโดยรถที่ควบคุมอุณหภูมิ นำส่งถึงชุมชนเป้าหมาย เพื่อให้มั่นใจว่าผู้รับมอบอาหารส่วนเกินจะได้รับอาหารที่มีคุณภาพดีที่สุด

นับตั้งแต่เริ่มโครงการเมื่อปี 2562 จนถึงปัจจุบัน ท็อปส์ได้นำส่งอาหารส่วนเกินไปยังครัวเรือนที่มีรายได้น้อย ผู้ด้อยโอกาส ตลอดจนผู้สูงอายุ ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศกว่า 700 ชุมชน รวมทั้งสิ้น 2.5 ล้านมื้อ ช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากขยะอาหารได้มากถึง 1.5 ล้านกิโลกรัม (ข้อมูล ณ เดือนกรกฎาคม 2565) ซึ่งการบริหารจัดการอาหารส่วนเกินเป็นการร่วมมือกับพันธมิตรผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ มูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ (SOS Thailand), มูลนิธิ วีวี แชร์ และ Care and Share Food for All - สหพันธ์อธิการเจ้าคณะนักบวชในประเทศไทย นอกจากมีเป้าหมายสู่การลดขยะอาหารให้เป็นศูนย์แล้ว ท็อปส์ยังตั้งเป้าให้ทุกสาขาเข้าร่วมโครงการเพื่อลดปริมาณอาหารส่วนเกิน

ด้านนายเจมส์ เลย์สัน กรรมการผู้จัดการ มูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ กล่าวว่า ในปัจจุบันมีจำนวนประชากรทั่วโลกที่ต้องเผชิญกับความหิวโหยมากมาย ในขณะที่แต่ละปีทั่วโลกมีอาหารที่ยังรับประทานได้ถูกทิ้งจำนวนมหาศาล มูลนิธิ ฯ มีภารกิจสำคัญในการรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยแนวคิดการจัดการอาหารส่วนเกินให้เกิดประโยชน์สูงสุด และช่วยเหลือผู้คนที่ประสบปัญหาความหิวโหยในทั่วโลก จึงได้ร่วมมือกับทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรมและภาคส่วนต่างๆ ที่มีเป้าหมายเดียวกัน รวมถึง ท็อปส์ ซึ่งเป็นผู้นำธุรกิจด้านอาหารที่ให้การสนับสนุนและตระหนักถึงการแก้ไขปัญหาขยะอาหารอย่างยั่งยืน ด้วยการส่งต่ออาหารส่วนเกินที่ดี มีคุณภาพให้กับมูลนิธิฯ เพื่อนำไปแจกจ่ายแก่ผู้ ขาดแคลนและด้อยโอกาสในสังคมไทย ซึ่งตลอดระยะเวลาของการดำเนินโครงการ ‘Food For Good Deed อาหารปันสุข’ ได้สร้างผลประโยชน์ในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านสิ่งแวดล้อมที่ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากขึ้น การขยายพื้นที่ช่วยเหลือให้ชุมชนที่กว้างขึ้น ตลอดจนการสร้างความร่วมมือที่ดีระหว่างพันธมิตรเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกัน และสอดคล้องกับกรอบเป้าหมายขององค์การพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ได้กำหนดให้ ขยะอาหารเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในปี ค.ศ. 2030 อีกด้วย

โดยล่าสุด ท็อปส์ ได้ร่วมกับ มูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ จัดกิจกรรมครัวชุมชน “ท็อปส์ อาหารปันสุข” ร่วมกับกลุ่มผู้อาศัยในชุมชนมั่นคง 133 กรุงเทพมหานคร นำอาหารส่วนเกินทั้งผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ จากศูนย์กระจายสินค้าอาหารสด (Fresh Distribution Center) มาเปลี่ยนเป็นมื้ออาหารพร้อมทานที่มีคุณภาพ จำนวน 2,300 กล่อง โดยนำไปมอบให้กับกลุ่มผู้พิการ ผู้เปราะบาง และผู้มีรายได้น้อยที่อาศัยอยู่ในชุมชนมั่นคง 133, ชุมชนริมคลองบางบอน 5 และ ชุมชนไม่จัดตั้ง ซอย 51 เขตบางบอน กรุงเทพฯ ซึ่งนอกจากจะช่วยให้สมาชิกในชุมชนได้รับประทานอาหารที่มีคุณภาพแล้ว ยังเป็นการช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย และทำให้สมาชิกในชุมชนได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมดังกล่าวด้วย

“ท็อปส์ มุ่งมั่นในการเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจช่วยโลกลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เกิดจาก ขยะอาหาร ตลอดจนพร้อมเป็นผู้นำฟู้ดค้าปลีกในการผลักดันวาระการบริหารจัดการอาหารส่วนเกินในประเทศ เพื่อส่งต่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้คน ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ตามกรอบนโยบาย การสร้างคุณค่าร่วมกันระหว่างธุรกิจและสังคมให้เติบโตเคียงข้างกันอย่างมั่นคงและยั่งยืน” นายจักรกฤษณ์ กล่าวทิ้งท้าย

ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.tops.co.th, เฟซบุ๊กแฟนเพจ TopsThailand หรือแอปพลิเคชัน @TopsThailand