การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก่อให้เกิดภัยคุกคามที่สำคัญต่อโลกและชุมชน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและผู้มีส่วนได้เสียตลอดห่วงโซ่คุณค่าของเซ็นทรัล รีเทล เซ็นทรัล รีเทล ตระหนักถึงความเร่งด่วนและมุ่งมั่นที่จะจัดการกับปัญหาภาวะฉุกเฉินทางสภาพภูมิอากาศผ่านมาตรการการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในกรอบระยะเวลาที่กำหนด โดยเป้าหมายระยะสั้นคือ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ขอบเขตที่ 1 และ 2) ลงให้ได้ร้อยละ 30 ภายในปี 2573 และเป้าหมายระยะยาวคือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิ (ขอบเขตที่ 1 และ 2) เป็นศูนย์ภายในปี 2593 เมื่อเทียบกับข้อมูลจากปี 2565

ความมุ่งมั่นเดินหน้าตามเป้าหมายของเซ็นทรัล รีเทล ท่ามกลางความท้าทายจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตัวอย่างเช่น การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่รุนแรง การขาดแคลนทรัพยากรที่ส่งผลต่อการจัดหาวัตถุดิบ นอกจากนี้ เซ็นทรัล รีเทล ยังอาจต้องแบกภาระต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้นเพื่อดำเนินงานด้านความยั่งยืน รวมถึงอาจยังต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องด้วย แม้ว่าจะมีความท้าทาย แต่เซ็นทรัล รีเทล ยังเล็งเห็นถึงโอกาสในการบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนที่กำหนดไว้ ไม่ว่าจะจากการลงทุนในเทคโนโลยีด้านประสิทธิภาพพลังงานหรือพลังงานหมุนเวียนเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและช่วยลดค่าใช้จ่าย หรือจากการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อประเมินความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะช่วยประกอบการตัดสินใจเกี่ยวกับการบริหารคลังสินค้า รวมทั้งการเลือกทำเลและการจัดทำกลยุทธ์ทางธุรกิจที่มีข้อมูลรองรับและพร้อมต่อทุกสถานการณ์มากยิ่งขึ้น

เป้าหมาย

ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 30% ภายในปี 2573
เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน 50% ภายในปี 2573
บรรลุการปล่อย ก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ Net Zero ภายในปี 2593

ผลกระทบต่อธุรกิจ ผู้มีส่วนได้เสีย และสิทธิมนุษยชน

ความเสี่ยงที่จะเผชิญสภาพอากาศแบบสุดขั้วอาจสูงขึ้นหากเพิกเฉยต่อความเร่งด่วนของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความจำเป็นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจมีผลกระทบอย่างมากต่อการดำเนินงานและผู้มีส่วนได้เสียของเซ็นทรัล รีเทล ด้วย อาทิ พนักงานอาจต้องทำงานในสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัยและเสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ขณะที่ลูกค้าอาจเปลี่ยนใจไปหาคู่แข่งของเซ็นทรัล รีเทล แทนเพราะเห็นว่าอีกฝ่ายส่งเสริมความยั่งยืนมากกว่า ผลกระทบดังกล่าวย่อมส่งผลให้ยอดขายของเซ็นทรัล รีเทล ลดลงและชื่อเสียงของเซ็นทรัล รีเทล เสียหาย ขณะที่คู่ค้าอาจมีต้นทุนที่สูงขึ้นและมีปัญหาขาดแคลนทรัพยากรจนส่งผลต่อการจัดหาสินค้าหรือการเสนอราคาที่เหมาะสม หากไม่แก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและคำนึงถึงความจำเป็นในการบริหารพลังงานและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว ผลกระทบจากสภาพอากาศสุดขั้วอาจทวีความรุนแรงต่อชุมชนและโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ หน่วยงานรัฐอาจตัดสินใจประกาศใช้กฎระเบียบหรือเรียกเก็บค่าปรับอย่างเข้มงวดยิ่งขึ้นจนต้นทุนการดำเนินงานของเซ็นทรัล รีเทล เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน ในกรณีดังกล่าว ทั้งนักลงทุนและผู้ถือหุ้นอาจหมดความเชื่อมั่นต่อเซ็นทรัล รีเทล จนเลือกไปลงทุนหรือให้เงินกู้กับธุรกิจอื่นที่ได้รับผลตอบแทนสูงกว่า ซึ่งย่อมส่งผลลบต่อความมั่นคงทางการเงิน ตลอดจนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของเซ็นทรัล รีเทล ดังนั้น เซ็นทรัล รีเทล จึงจำเป็นต้องปกป้องผลประโยชน์และความเป็นอยู่ที่ดีของผู้มีส่วนได้เสีย รวมถึงสร้างเสริมความสามารถในการแข่งขันและศักยภาพในการเติบโตของตนเองในระยะยาวผ่านการจัดทำกลยุทธ์สภาพภูมิอากาศและการบริหารจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อรับมือกับความท้าทายดังกล่าว

แนวทางการบริหารจัดการ

โครงสร้างการกำกับดูแลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เซ็นทรัล รีเทล ตระหนักดีว่าโครงสร้างการกำกับดูแลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีความจำเป็นต่อการบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ โดยโครงสร้างดังกล่าวต้องครอบคลุมทุกระดับขององค์กร ไม่ว่าจะในระดับกรรมการ ผู้บริหาร หรือพนักงาน รวมทั้งครอบคลุมทุกหน่วยธุรกิจ เพื่อให้การดำเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศขององค์กรมีความสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ภายใต้โครงสร้างการกำกับดูแลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คณะกรรมการบรรษัทภิบาลและการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนมีหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและประเด็นความยั่งยืนต่าง ๆ ตามกลยุทธ์ ReNEW รวมถึงรับผิดชอบการทบทวนกลยุทธ์ด้านสภาพภูมิอากาศด้วย โดยมีการตรวจสอบรายงานและอภิปรายถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมมีหน้าที่กำกับดูแลการจัดทำกลยุทธ์สภาพภูมิอากาศและบริหารงานด้านสภาพภูมิอากาศ ส่วนคณะทำงานด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนและคณะทำงานด้านสิ่งแวดล้อมรับผิดชอบการบูรณาการกลยุทธ์สภาพภูมิอากาศสู่กระบวนการดำเนินงานทางธุรกิจและการตัดสินใจ ตลอดจนบังคับใช้มาตรการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการปรับตัวร่วมกับหน่วยธุรกิจที่เกี่ยวข้อง

การบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เซ็นทรัล รีเทล ประกาศใช้กลยุทธ์ ReNEW เพื่อขับเคลื่อนทุกหน่วยธุรกิจสู่การบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิขอบเขตที่ 1 และ 2 เป็นศูนย์ภายในปี 2593 รวมทั้งจัดทำกระบวนการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามแนวทางของมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ (Task Force on Climate-related Financial Disclosures: TCFD) และมาตรฐานเรื่องการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ (IFRS S2) โดยกระบวนการดังกล่าวครอบคลุมการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทุกขั้นตอนตั้งแต่การประเมิน การวางแผน การดำเนินการ การติดตามผล และการรายงานผลการดำเนินงาน

1. การประเมิน

เซ็นทรัล รีเทล ติดตามและรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขอบเขตที่ 1 2 และ 3 ตามระเบียบวิธีปฏิบัติของ GHG Protocol โดยชุดข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกในห่วงโซ่คุณค่าทั้งหมดของเซ็นทรัล รีเทล ซึ่งช่วยให้การบริหารจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นไปอย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ เซ็นทรัล รีเทล ยังทบทวนและประเมินความเสี่ยงและโอกาสทางกายภาพและการเปลี่ยนผ่านที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศผ่านการวิเคราะห์เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น

การวิเคราะห์ข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและผลประเมินความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศช่วยให้เซ็นทรัล รีเทล ตระหนักถึงผลกระทบทางการเงิน ทั้งจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและจากการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคคาร์บอนตํ่า เซ็นทรัล รีเทล จึงจัดทำแผนการลดการปล่อยคาร์บอน (Decarbonization) แผนปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศ และการบริหารความเสี่ยงองค์กรโดยคำนึงถึงผลกระทบดังกล่าว

2. การวางแผน

เซ็นทรัล รีเทล กำหนดเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศทั้งแบบระยะสั้นและระยะยาว พร้อมทั้งกำหนดให้แผนการลดการปล่อยคาร์บอนเป็นแนวทางในการดำเนินการตามมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อีกทั้งยังจัดทำแผนปรับตัวต่อความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ ซึ่งรวมถึงมาตรการรับมือเชิงรุกและระบบเตือนภัยล่วงหน้า อาทิ การกำหนดระเบียบปฏิบัติในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินจากสภาพอากาศสุดขั้ว นอกจากนี้ เซ็นทรัล รีเทล ยังลงทุนในโครงสร้างทางกายภาพและสินทรัพย์เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการรับมือกับสภาพภูมิอากาศด้วย

3. การดำเนินงาน

เซ็นทรัล รีเทล ได้จัดทำโครงการต่าง ๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเน้นให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การลงทุนในอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อให้การใช้พลังงานมีประสิทธิภาพสูงสุดในทุกขั้นตอนของการดำเนินธุรกิจ รวมถึงการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อใช้ภายในเซ็นทรัล รีเทล นอกจากนี้ เซ็นทรัล รีเทล ยังลงทุนในการใช้แนวทางการแก้ปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (nature-based solutions) อาทิ การฟื้นฟูป่าเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาว ตลอดจนจัดทำแผนปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศ และจัดอบรมพนักงานและคู่ค้าในการอนุรักษ์พลังงานและแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ตลอดห่วงโซ่คุณค่า

4. การติดตามผลและทบทวนแผนงาน

เซ็นทรัล รีเทล ติดตามความคืบหน้าในการดำเนินงานตามเป้าหมายอย่างสมํ่าเสมอ และเปิดเผยผลการดำเนินงานตามกระบวนการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อสาธารณชนเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม นอกจากนี้ เซ็นทรัล รีเทล ยังทบทวนกระบวนการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ และกำหนดตัวชี้วัดผลงานที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศเพื่อสร้างแรงจูงใจให้แก่ทั้งผู้บริหารและพนักงาน

The Task Force on Climate-Related Financial Disclosures (TCFD) Report 2023

โครงการสำคัญ

การติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์

เซ็นทรัล รีเทล ได้ติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์บนหลังคาของห้างสรรพสินค้าและศูนย์กระจายสินค้า เพื่อช่วยในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลดต้นทุนด้านค่าใช้จ่ายพลังงาน ในปี 2566 เซ็นทรัล รีเทล ได้ติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์แล้ว 112 แห่งในประเทศไทย ครอบคลุมทุกหน่วยธุรกิจ ได้แก่ ศูนย์การค้าโรบินสัน ไลฟ์สไตล์ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ไทวัสดุ และศูนย์กระจายสินค้า และอีก 30 แห่งในประเทศเวียดนาม โดยโครงการนี้ช่วยผลิตพลังงานหมุนเวียนได้มากถึง 87,824 เมกะวัตต์-ชั่วโมง (316 จิกะจูล) สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงถึง 43,903 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าและลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้เซ็นทรัล รีเทล 388,331 บาทต่อปี

การเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน

เซ็นทรัล รีเทล จัดทำโครงการต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานและส่งเสริมความยั่งยืนในห้างสรรพสินค้าและศูนย์กระจายสินค้าทั้งในประเทศไทยและประเทศเวียดนาม สำหรับประเทศไทย เซ็นทรัล รีเทล ริเริ่มโครงการระบบควบคุุมการจัดการเครื่่องทำความเย็น (Chiller Plant Manager System: CPMS) และระบบบริหารจัดการข้อมููลด้านพลังงาน (Energy Management Information System: EMIS) ที่ศูนย์การค้าโรบินสัน ไลฟ์สไตล์ จำนวน 7 สาขา โดยเทคโนโลยีนี้ช่วยตรวจสอบและจัดการเครื่องทำความเย็นสำหรับระบบปรับอากาศในห้างสรรพสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งช่วยรักษาอุณหภูมินํ้าเย็นให้เหมาะสม จึงไม่ต้องเปลี่ยนหมุนเวียนนํ้าโดยไม่จำเป็น ส่งผลให้การใช้พลังงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งจัดเก็บข้อมูลการใช้พลังงานในห้างสรรพสินค้า (เช่น เครื่องทำความเย็น แสงสว่าง และเครื่องปรับอากาศ) เพื่อระบุพื้นที่ที่มีการใช้พลังงานสูง ช่วยให้เซ็นทรัล รีเทล สามารถกำหนดเป้าหมายการลดพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยระบบ CPMS และ EMIS สามารถลดการใช้พลังงานได้ 1,897 เมกะวัตต์-ชั่วโมง (6,829.2 จิกะจูล) คิดเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 948.31 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า รวมทั้งลดต้นทุนด้านพลังงานได้ประมาณ 8 ล้านบาทต่อปี

การลดการใช้พลังงาน

เซ็นทรัล รีเทลยังได้ริเริ่มโครงการลดการใช้พลังงานที่ศูนย์กระจายสินค้าในประเทศไทย โดยสนับสนุนให้พนักงานใช้บันไดแทนลิฟต์และปิดลิฟต์บางตัวในช่วงเวลาที่กำหนด โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กับพนักงานเกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงานและเตรียมความพร้อมสำหรับการรับรองมาตรฐานระบบการจัดการด้านพลังงาน (ISO 50001) โครงการนี้สามารถลดการใช้พลังงานได้ 50 เมกะวัตต์-ชั่วโมง (0.18 จิกะจูล) คิดเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 25 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และลดต้นทุนด้านพลังงานได้ 1-1.2 ล้านบาทต่อปี

การติดตั้งระบบทำความเย็นแบบอิสระ และระบบปรับความดันกระแสไฟฟ้าแบบอินเวอร์เตอร์

ในประเทศเวียดนาม เซ็นทรัล รีเทล ได้ติดตั้งระบบทำความเย็นแบบอิสระ (Free Air-cooling System) ในห้างสรรพสินค้า 5 แห่งในปี 2566 และมีแผนจะติดตั้งระบบดังกล่าวในห้างสรรพสินค้าอีก 10 แห่งในปี 2567 เทคโนโลยีนี้อาศัยอากาศเย็นตามธรรมชาติที่มีอุณหภูมิไม่เกิน 26 องศาเซลเซียส จากภายนอกห้างสรรพสินค้า มาช่วยปรับอากาศภายในตัวห้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ เซ็นทรัล รีเทล คาดว่าโครงการติดตั้งระบบทำความเย็นแบบอิสระนี้จะช่วยลดการใช้พลังงานได้ 257,154 เมกะวัตต์-ชั่วโมง (925.75 จิกะจูล) คิดเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 53,249 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า รวมทั้งลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้ 1,405,819 บาทต่อปี

นอกจากนี้ ในประเทศเวียดนามได้ติดตั้งระบบปรับความดันกระแสไฟฟ้าแบบอินเวอร์เตอร์ เพื่อประหยัดพลังงานและปกป้องอุปกรณ์ไฟฟ้าจากความเสียหายที่อาจเกิดจากระดับแรงดันไฟฟ้า โดยในปี 2566 ได้มีการติดตั้งระบบดังกล่าวในห้างสรรพสินค้า 7 แห่ง ซึ่งสามารถลดการใช้พลังงานได้ 746,567 เมกะวัตต์-ชั่วโมง (2,786.65 จิกะจูล) คิดเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 154,592 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า รวมทั้งลดค่าใช้จ่ายได้ 2,998,647 บาทต่อปี

การขนส่งอย่างยั่งยืนขององค์กรและลูกค้า

เซ็นทรัล รีเทล ส่งเสริมการขนส่งและการเดินทางอย่างยั่งยืนทั้งในการดำเนินธุรกิจและในกลุ่มลูกค้า โดยในปี 2566 เซ็นทรัล รีเทล ได้เปลี่ยนมาใช้รถบรรทุกไฟฟ้า จำนวน 24 คัน เพื่อรองรับงานโลจิสติกส์ของหน่วยธุรกิจต่าง ๆ โดยโครงการนี้สามารถลดการใช้นํ้ามันดีเซลไปถึง 355,588 ลิตร และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 970 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

นอกจากนี้ เซ็นทรัล รีเทล ได้ติดตั้งสถานีชาร์จรถไฟฟ้าทั่วห้างสรรพสินค้า เพื่อส่งเสริมให้ลูกค้าหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า โดยในปี 2566 สถานีชาร์จรถไฟฟ้าของเซ็นทรัล รีเทล สามารถรองรับการชาร์จรถไฟฟ้าได้ 793 คัน