การบริหารจัดการความเสี่ยงและภาวะวิกฤติ

ความท้าทาย และโอกาส

การบริหารจัดการความเสี่ยงและภาวะวิกฤตมีบทบาทสำคัญต่อธุรกิจ เนื่องจากปัจจัยเสี่ยง เช่น ความผันผวนของต้นทุน การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค อัตราแลกเปลี่ยน และปัญหาสิ่งแวดล้อม อาจกระทบต่อสภาพคล่อง การแข่งขัน และความเชื่อมั่นของลูกค้า นอกจากนี้ ความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน เช่น การจ้างงานที่ไม่เป็นธรรมและสภาพแวดล้อมการทำงานที่ไม่ปลอดภัย อาจส่งผลต่อพนักงานและภาพลักษณ์ขององค์กร

การบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพช่วยลดความสูญเสียทางการเงิน ควบคุมต้นทุน และเพิ่มความยืดหยุ่นในการดำเนินงาน มาตรการด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและจัดการของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ ยังช่วยเสริมสร้างความยั่งยืนให้แก่องค์กร ด้านบุคลากร นโยบายที่ให้ความสำคัญกับสิทธิแรงงานและสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี ช่วยเพิ่มความพึงพอใจและความผูกพันของพนักงาน

เซ็นทรัล รีเทล มีการดำเนินธุรกิจที่หลากหลายทั้งในและต่างประเทศ บริษัทฯ จึงได้กำหนดให้มีการบริหารจัดการความเสี่ยงและการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจอย่างเหมาะสมครอบคลุมทั่วทั้งองค์กร พร้อมยกระดับความรู้ความเข้าใจด้านการบริหารความเสี่ยงในทุกหน่วยธุรกิจ และปลูกฝังวัฒนธรรมความเสี่ยงแก่พนักงานทุกระดับ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงและความยั่งยืนขององค์กร

แนวทางการบริหารจัดการ

การกำกับดูแลความเสี่ยง

เซ็นทรัล รีเทล กำหนดให้มีโครงสร้าง บทบาท และหน้าที่่ความรับผิดชอบในกระบวนการบริหารความเสี่่ยงอย่างชัดเจน ดังนี้

  1. คณะกรรมการนโยบายความเสี่ยง (Risk Policy Committee: RPC) ประกอบด้วยกรรมการอิสระ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (Chief Executive Officer: CEO) มีบทบาทในการพิจารณานโยบายการบริหารความเสี่ยงให้สอดคล้องกับเป้าหมายและกลยุทธ์ของบริษัทฯ พร้อมทั้งกำกับดูแล สนับสนุน และผลักดันให้เซ็นทรัล รีเทล สามารถบริหารความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพตามนโยบายบริหารความเสี่ยงและกรอบมาตรฐานสากล รวมทั้งติดตามและประเมินประสิทธิผลของนโยบายการบริหารความเสี่ยง ตลอดจนให้คำแนะนำในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบริหารความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง เพื่อรายงานต่อคณะกรรมการบริษัทฯ เป็นประจำอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง รวมถึงมอบหมายให้หน่วยงานบริหารความเสี่ยงเป็นตัวแทนในการสื่อสารรายการความเสี่ยงที่สำคัญไปยังคณะกรรมการตรวจสอบ (Audit Committee: AC) เพื่อพิจารณาถึงความเพียงพอของระบบควบคุมภายในของเซ็นทรัล รีเทล และบริษัทย่อย
  2. คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงระดับบริษัท (CRC Risk Management Committee: CRC RMC) ซึ่งถูกแต่งตั้งโดย RPC โดยมีประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (Chief Executive Officer: CEO) เป็นประธาน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการเงิน (Chief Financial Officer: CFO) เป็นรองประธาน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายดิจิทัล (Chief Digital Officer: CDO) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารหน่วยธุรกิจหลัก และผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานนักลงทุนสัมพันธ์และสายงานการจัดการความเสี่ยงเป็นกรรมการ โดย CRC RMC เปรียบเสมือนเป็น 2nd line ตามหลักการ 3 line of defense มีบทบาทในการพิจารณารายการความเสี่ยง กลยุทธ์และกรอบแนวทางในการบริหารความเสี่ยง รวมถึงหลักเกณฑ์การประเมินความเสี่ยง พิจารณารายงานผลการบริหารความเสี่ยงทั้งระดับองค์กรและระดับหน่วยงาน และกำกับดูแลให้มีการรายงานผลการบริหารความเสี่ยง ต่อ RPC เป็นประจำอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง
  3. หน่วยงานบริหารความเสี่ยง (Risk Management Unit) ประกอบด้วยผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ด้านการบริหารความเสี่ยง เปรียบเสมือนเป็น 2ndline ตามหลักการ 3 line of defense มีบทบาทหน้าที่ในการดำเนินการให้มีการประเมินและวิเคราะห์ความเสี่ยง นอกจากนี้ยังมีบทบาทหน้าที่ในการรวบรวมรายการความเสี่ยงที่สำคัญขององค์กร (Corporate/CRC Risk) ดัชนีชี้วัดความเสี่ยง (Key Risk Indicator) แผนบริหารจัดการความเสี่ยง (Risk Mitigation Plan/Risk Management Plan) นำเสนอต่อคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงระดับบริษัท (CRC RMC) ให้ความเห็นชอบและติดตามให้มีการนำผลการบริหารความเสี่ยงมารายงานให้คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงระดับบริษัท (CRC RMC) และคณะกรรมการนโยบายความเสี่ยง (RPC) ทราบเป็นประจำตามรอบระยะเวลาที่กำหนด หรือ เป็นประจำอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง
  4. เจ้าของความเสี่ยง (Risk Owner) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดย RMC ประกอบด้วยผู้บริหารจากแต่ละหน่วยธุรกิจ/หน่วยสนับสนุน/ฝ่าย/แผนก/หน่วยงาน เปรียบเสมือนเป็น 1st line ตามหลักการ 3 line of defense มีบทบาทหน้าที่ในการระบุ วิเคราะห์ และประเมินความเสี่ยง พร้อมทั้งนำเสนอแนวทางการตอบสนองต่อความเสี่ยง ติดตาม และรายงานผลการบริหารความเสี่ยงแก่ Risk Management Working Team
  5. ฝ่ายตรวจสอบภายใน (Internal Audit Department) ประกอบด้วยผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ด้านการตรวจสอบภายในโดยเฉพาะ และเป็นอิสระจากหน่วยธุรกิจอื่นๆ เปรียบเสมือนเป็น 3rd line ตามหลักการ 3 line of defense มีบทบาทหน้าที่ในการประเมินการควบคุมภายในเพื่อให้มั่นใจว่า เซ็นทรัล รีเทล จะสามารถบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลภายใต้การบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม และให้ข้อมูลเกี่ยวกับการตรวจสอบ การบริหารความเสี่ยง การควบคุมภายใน กระบวนการปฏิบัติงานที่สำคัญ พร้อมทั้งประเมินความเพียงพอและประสิทธิผลของการบริหารความเสี่ยงภายใต้ภารกิจและขอบเขตการปฏิบัติงานที่กำหนด รวมถึงรายงานความคืบหน้าในการปฏิบัติงานของฝ่ายตรวจสอบภายในและสรุปประเด็นสำคัญอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่อประธานเจ้าหน้าที่บริหารและคณะกรรมการตรวจสอบเป็นประจำทุกไตรมาสและประจำปี
กฎบัตรคณะกรรมการนโยบายความเสี่ยง
คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง
คำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานบริหารความเสี่ยง
แนวปฎิบัติ บทบาท หน้าที่ ความรับผิดชอบของหน่วยงานบริหารความเสี่ยง

เซ็นทรัล รีเทล ตระหนักและเล็งเห็นว่าการบริหารความเสี่ยงเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่ช่วยให้องค์กรสามารถระบุและบริหารจัดการความไม่แน่นอนต่าง ๆ ที่อาจเป็นโอกาสและ/หรืออุปสรรคที่อาจมีผลต่อการบรรลุเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ของบริษัทฯ ได้ การบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพภายใต้หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Good Corporate Governance) และมีการถ่วงดุลอำนาจ (Check and Balance) อย่างเหมาะสม จะช่วยให้บริษัทฯ มีการตื่นตัว มีความยืดหยุ่น และมีความพร้อมในการดำเนินงานภายใต้สถานการณ์ต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนรับมือกับความไม่แน่นอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มความมั่นใจให้กับผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายได้อย่างต่อเนื่อง และช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับองค์กรได้อย่างยั่งยืน

คณะกรรมการและผู้บริหารของบริษัทฯ จึงเห็นควรให้นำการบริหารความเสี่ยงมาปฏิบัติใช้ในการดำเนินงาน ของบริษัทฯ และกำหนดนโยบายบริหารความเสี่ยงที่บุคลากรของบริษัทฯ ต้องยึดถือปฏิบัติ ดังนี้

  1. กำหนดให้การบริหารความเสี่ยงเป็นความรับผิดชอบของบุคลากรของบริษัทฯ ที่ต้องตระหนักถึงความเสี่ยงในโครงการ หน่วยงาน หน่วยธุรกิจ บริษัทย่อย หรือบริษัทฯ และให้ความสำคัญกับการตอบสนองอย่างเพียงพอและเหมาะสมต่อความเสี่ยงรายการต่าง ๆ ตามกลยุทธ์ แนวทาง มาตรการ หรือวิธีการที่ถูกกำหนด รวมถึงกำหนดให้บุคลากรของบริษัทฯ ติดตามผลการดำเนนิงาน และรายงานผลการดำเนินงานอย่างสม่ำเสมอ
  2. จัดให้มีโครงสร้าง มีการกำหนดบทบาทหน้าที่การบริหารความเสี่ยง และการกำกับดูแลที่เหมาะสม รวมถึงเสริมสร้างและส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมความเสี่ยง
  3. จัดให้มีการบริหารความเสี่ยงที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าหมาย วัตถุประสงค์ และกลยุทธ์ของบริษัทฯ
  4. จัดให้มีการทบทวน ปรับปรุง ติดตาม พัฒนาประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และประเมินผลของการบริหาร ความเสี่ยงอยู่เสมอ
  5. จัดให้มีระบบสารสนเทศ การสื่อสารข่าวสารการบริหารความเสี่ยงให้บุคลากรและผู้มีส่วนได้เสียทราบ ตามความเหมาะสม และรายงานความเสี่ยงต่อผู้บริหาร คณะกรรมการ และผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ ตามที่ผู้บริหารและ/หรือคณะกรรมการเห็นชอบอย่างต่อเนื่องและเหมาะสม

กระบวนการบริหารความเสี่ยงองค์กร (ERM)

เซ็นทรัล รีเทล บริหารความเสี่ยงตามมาตรฐาน COSO ERM 2017 ที่ใช้แนวทางบูรณาการกระบวนการบริหารความเสี่ยงระดับองค์กรโดยครอบคลุมแนวคิด ดังนี้

การกํากับดูแล และวัฒนธรรม
  • จัดทําโครงสร้างและกําหนดหน้าที่ความรับผิดชอบต่อการจัดการความเสี่ยง
  • สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ตระหนักถึงความเสี่ยง
กลยุทธ์ และ การกําหนดวัตถุประสงค์
  • วางแผนกลยุทธ์ที่บูรณาการด้านความเสี่ยง
  • พัฒนากลยุทธ์ให้สอดคล้องกับความเสี่ยงในระดับที่ยอมรับได้
ผลการปฏิบัติงาน
  • กําหนดและประเมินระดับความเสี่ยง
  • จัดลําดับความสําคัญของผลกระทบและโอกาส
การสอบทาน และการแก้ไขปรับปรุง
  • ตรวจสอบผลการปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ
  • ทบทวนการบริหารความเสี่ยงเพื่อแก้ไขและปรับปรุง
สารสนเทศ การสื่อสาร และการรายงาน
  • ประยุกต์ใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในการบริหารความเสี่ยง
  • จัดทําการสื่อสาร และรายงานเพื่อสร้างความเข้าใจอย่างเหมาะสม

เซ็นทรัล รีเทล ได้ระบุและประเมินความเสี่ยงครอบคลุมทุกประเด็นสำคัญ รวมถึงความเสี่ยงด้าน ESG ที่เป็นความเสี่ยงต่อการดำเนินธุรกิจที่กระทบความสามารถในการบรรลุกลยุทธ์ขององค์กร และวัตถุประสงค์ทางธุรกิจ ผ่านการกำหนดระดับความเสี่ยงเอาไว้ 3 ระดับคือ ระดับ ต่ำ ปานกลาง และสูง พร้อมทั้งกำหนดเกณฑ์ในด้านผลกระทบ (Impact) และความน่าจะเป็น (Likelihood) ซึ่งในปี 2567 ได้กำหนดไว้ดังนี้

ตารางประเมินระดับความเสี่ยง

ระดับความเสี่ยง เกณฑ์การประเมินผลกระทบ เกณฑ์การประเมินโอกาสเกิด

ระดับความเสี่ยงสูง (ไม่สามารถยอมรับได้)

จำเป็นที่จะต้องบริหารจัดการทันทีและติดตาม รวมถึงรายงานผลการดำเนินการแก่ผู้บริหารระดับสูง

ผลกระทบในด้านต่าง ๆ ที่บริษัทฯ กําหนดอยู่ในเกณฑ์สูง

โอกาสเกิดขึ้นสูง

ระดับความเสี่ยงปานกลาง (สามารถยอมรับได้)

เจ้าของความเสี่ยงจำเป็นที่จะต้องควบคุมและติดตามอย่างสม่ำเสมอ หรือสรรหามาตรการ ควบคุมความเสี่ยงเพิ่มเติมเพื่อลดระดับโอกาส หรือระดับผลกระทบลง

ผลกระทบในด้านต่าง ๆ ที่บริษัทฯ กําหนดอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง

โอกาสเกิดขึ้นปานกลาง

Low Risk (ยอมรับได้)

ความเสี่ยงถูกควบคุมด้วยมาตรการควบคุมที่มีอยู่อย่างเพียงพอ เจ้าของความเสี่ยงจำเป็นที่จะต้องติดตามประสิทธิผลของการควบคุมและตัวชี้วัดความเสี่ยง (Key Risk Indicator: KRI) เป็นประจำ

ผลกระทบในด้านต่าง ๆ ที่บริษัทฯ กําหนดอยู่ในเกณฑ์ต่ำ

โอกาสเกิดขึ้นต่ำ

ผลการดำเนินงานด้านการบริหารความเสี่ยง

ในปี 2567 เซ็นทรัล รีเทล ได้มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายความเสี่ยงและคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงเป็นประจำทุกไตรมาส รวมทั้งสิ้น 4 ครั้ง เพื่อติดตามผลการบริหารความเสี่ยงของเซ็นทรัล รีเทล และรายงานให้แก่คณะกรรมการบริษัทตามรอบ นอกจากนี้ในปี 2567 หน่วยงานตรวจสอบภายในของ เซ็นทรัล รีเทล ได้เข้าทำการสอบทานกระบวนการบริหารความเสี่ยงซึ่งครอบคลุมถึงวิธีการ เครื่องมือ และกระบวนการที่ใช้ในการระบุความเสี่ยง วิเคราะห์ความเสี่ยง ควบคุมความเสี่ยง ติดตามรายการความเสี่ยง และการรายงานความเสี่ยง โดยจากการสอบทานไม่พบประเด็นที่มีนัยสำคัญ

ในปลายปี 2566 หน่วยงานบริหารความเสี่ยงได้วิเคราะห์รายการความเสี่ยง (Risk Profile) ที่สำคัญ โดยนำวิสัยทัศน์ พันธกิจ ค่านิยม และเป้าหมายหลักของเซ็นทรัล รีเทล เป็นวัตถุประสงค์หลักในการวิเคราะห์ความเสี่ยง พร้อมทั้งพิจารณาปัจจัยภายในและภายอก บริบททางธุรกิจ สภาพแวดล้อมของธุรกิจ สถานการณ์ทางการเมือง แนวโน้มสภาพเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม กฎหมาย งานวิจัย และบทวิเคราะห์จากองค์กรในระดับนานาชาติ เช่น World Economic Forum, CRO Forum และ Internal Audit Foundation รวมถึงข้อมูลรายการความเสี่ยงที่ได้จากกลุ่มธุรกิจต่างๆ ของเซ็นทรัล รีเทล แล้วจึงนำมาเป็นข้อมูลประกอบการจัดทำแบบร่าง Risk appetite, Risk tolerance, ดัชนีชี้วัดความเสี่ยง (Key Risk Indicators: KRIs) และเกณฑ์การประเมินความเสี่ยง โดยพิจารณาควบคู่ไปกับข้อมูลเชิงสถิติย้อนหลังที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และ/หรือผลการดำเนินงานที่เคยเกิดขึ้นและส่งผลกระทบโดยตรงต่อทั้ง เซ็นทรัล รีเทล เอง หรือกับบริษัทที่ดำเนินธุรกิจในลักษณะเดียวกันหรือใกล้เคียง จากนั้นจึงได้สรุปข้อมูลทั้งหมดและทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารระดับสูงทั่วทั้งองค์กรเพื่อให้ได้มาซึ่งรายการความเสี่ยงสำคัญ ระดับผลกระทบ (Impact Level) และระดับความน่าจะเป็น (Likelihood Level) ของรายการความเสี่ยงสำคัญจากระดับสูง กลาง และต่ำ, Risk Appetite, Risk Tolerance, KRI, และเกณฑ์การประเมินความเสี่ยง และนำเสนอต่อ RMC และ RPC ตามลำดับเพื่อรับฟังข้อเสนอแนะ และขออนุมัติในการประกาศใช้ โดยมีการแต่งตั้งให้ Risk Owners ที่เกี่ยวข้องกับแต่ละความเสี่ยงสำคัญรับผิดชอบในการบริหารจัดการและติดตามอย่างใกล้ชิด โดยสามารถจัดหมวดหมู่ออกได้เป็น 7 รายการได้แก่ ความเสี่ยงด้านกลยุทธ์ (Strategic Risk) ความเสี่ยงด้านการปฏิบัติงาน (Operation Risk) ความเสี่ยงด้านการเงิน (Financial Risk) ความเสี่ยงด้านการปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับ (Compliance Risk) ความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Risk) ความเสี่ยงด้านความยั่งยืนที่เกี่ยวข้องกับ ESG (ESG Risk) ความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดต่ำแต่ส่งผลกระทบสูง (Black Swan Risk) ดังตัวอย่างที่แสดงในตาราง

รายการความเสี่ยง คำอธิบาย ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ดัชนีชี้วัดความเสี่ยงสำคัญ การบรรเทาความเสี่ยง ผู้รับผิดชอบ

ความเสี่ยงด้านการปฏิบัติงาน:

O1 ความเสี่ยงจากการดำเนินธุรกิจเดิม

มีความเป็นไปได้ที่หน่วยธุรกิจเดิมภายใต้กลุ่มบริษัท เซ็นทรัล รีเทล จะมีผลประกอบการต่ำกว่าระดับที่ยอมรับได้ เซ็นทรัล รีเทล ยอมรับผลกระทบทจากการดำเนินงานของหน่วยธุรกิจเดิมภายใต้กลุ่มบริษัท เซ็นทรัล รีเทล ได้ไม่ต่ำกว่า 5% ของเป้าหมายทางการเงิน
  • ยอดขาย
  • EBIT
  • ยกระดับการสร้างประสบการณ์การเลือกซื้อสินค้าให้กับลูกค้าเฉพาะกลุ่ม
  • เพิ่มประสิทธิภาพการพยากรณ์ความต้องการสินค้า
  • ปรับปรุงกระบวนการทำงานอย่างต่อเนื่อง
  • ยกระดับประสิทธิภาพการสื่อสารของสาขา
  • ยกระดับประสิทธิภาพการบริหารพื้นที่แสดงสินค้า
  • เพิ่มประสิทธิภาพการทำโปรโมชั่นและแคมเปญ
  • เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารต้นทุนและควบคุมค่าใช้จ่าย
  • หน่วยงานกลยุทธ์องค์กร
  • หน่วยงานการเงินองค์กร
  • หน่วยธุรกิจทั้งหมด

ความเสี่ยงด้านการปฏิบัติงาน:

O3 ความเสี่ยงด้านการบริหารห่วงโซ่อุปทาน

แนวโน้มที่ประสิทธิภาพของการบริหารห่วงโซ่อุปทานจะมีประสิทธิภาพต่ำกว่าระดับที่ยอมรับได้ ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อฐานะทางการเงิน และความสามารถในการขายและจัดส่งสินค้า จนนำไปสู่ผลกระทบด้านความเชื่อมั่น และภาพลักษณ์ขององค์กร เซ็นทรัล รีเทล ยอมรับผลกระทบที่เกิดจากประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการบริหารสินค้าคงคลังได้ไม่เกิน 5% ของเป้าหมาย
  • จำนวนวันสินค้าคงคลัง
  • ความล้าสมัยของสินค้า
  • การพึ่งพาคู่ค้า
  • ความสามารถในการส่งมอบของคู่ค้า
  • ความสามารถในการส่งมอบของ CRC
  • การนำ Data Analytics มาประยุกต์ใช้สำหรับการบริหารจัดการสินค้าคงคลัง
  • จัดทำ Sales Promotion เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของสินค้าคงคลัง
  • มีการทบทวนและปรับปรุงผังการจัดวางสินค้า (Planogram) เป็นประจำ
  • แผนกและหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการบริหารห่วงโซ่อุปทานของทุกหน่วยธุรกิจ

ความเสี่ยงด้านการปฏิบัติตามกฎระเบียบและข้อบังคับ:

C1 ความเสี่ยงด้านการทุจริตและคอร์รัปชัน *

ความเสี่ยงที่จะเกิดการทุจริต คอร์รัปชั่น หรือใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ส่วนตน อันอาจเป็นเหตุให้ เซ็นทรัล รีเทล มีโอกาสได้รับผลกระทบทางกฎหมาย การเงิน ชื่อเสียง หรือความต่อเนื่องในการดำเนินกิจกรรมสำคัญทางธุรกิจ เซ็นทรัล รีเทล ไม่ยอมรับความเสี่ยงใดๆ ที่อาจนำไปสู่การทุจริต คอร์รัปชัน และการละเมิดกฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง ตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี
  • จำนวนครั้งที่เกิดเหตุการณ์ทุจริต คอร์รัปชั่น
  • ประสิทธิภาพของกระบวนการควบคุม
  • การควบคุมภายในที่มีประสิทธิภาพ: เซ็นทรัล รีเทล มีนโยบายที่ชัดเจน ตลอดจน มีกระบวนการในการติดตาม ประเมิน และรายงานผลการควบคุมภายใน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการควบคุมมีประสิทธิภาพ และเชื่อถือได้
  • การเสริมสร้างวัฒนธรรม และจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ: เซ็นทรัล รีเทล ได้เผยแพร่นโยบายต่อต้านการทุจริต คอร์รัปชัน และปลูกฝังค่านิยมองค์กรในด้านจริยธรรมให้แก่พนักงานทุกระดับอย่างทั่วถึง
  • เซ็นทรัล รีเทล มีช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนที่มีประสิทธิภาพ
  • หน่วยงานควบคุมภายใน
  • หน่วยงานกำกับการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์
  • แผนกป้องกันการสูญเสีย

หมายเหตุ: * เซ็นทรัล รีเทล กำหนดให้มีเกณฑ์ในการประเมินความเสี่ยงด้านการทุจริตและคอร์รัปชันโดยเฉพาะ ซึ่งได้กำหนดระดับโอกาสในการเกิดและระดับผลกระทบที่ยอมรับได้ไว้ในระดับต่ำมาก จึงทำให้ความเสี่ยงดังกล่าวมีความอ่อนไหวกว่าความเสี่ยงรายการอื่น จึงส่งผลให้ระดับความเสี่ยงปรากฎอยู่ในระดับกลาง (สีเหลือง) หรือระดับสูง (สีแดง) บ่อยครั้ง ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการป้องกัน ติดตาม และเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

วัฒนธรรมความเสี่ยง

เซ็นทรัล รีเทล มุ่งมั่นที่จะส่งเสริมวัฒนธรรมความเสี่ยงทั่วทั้งองค์กร สร้างสภาพแวดล้อมที่ตระหนักถึงความเสี่ยงในทุกระดับขององค์กรครอบคลุมบุคลากรที่สำคัญของเซ็นทรัล รีเทล ดังนี้

เซ็นทรัล รีเทล มุ่งมั่นที่จะปลูกฝังสภาพแวดล้อมที่ให้ความสำคัญกับการตระหนักรู้เรื่องความเสี่ยงในทุกระดับขององค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มบุคลากรหลักของ เซ็นทรัล รีเทล ตามที่ระบุไว้ในที่นี้

  1. ระดับกรรมการและผู้บริหารระดับสูง: มีการเชิญวิทยากรจากสถาบันต่างๆ ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการบริหารความเสี่ยง มาบรรยายพิเศษเพื่อร่วมแบ่งปันข้อมูล และแนวโน้มความเสี่ยงที่สำคัญ เพื่อเสริมสร้างทักษะและองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการความเสี่ยงให้แก่ผู้บริหารระดับสูงและคณะกรรมการของเซ็นทรัล รีเทล
  2. ระดับพนักงาน: จัดให้หลักสูตร CRC-Risk Management and GRC E- learning ในรูปแบบ Online (E-learning) ที่พนักงานทุกระดับสามารถเข้าถึงและศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเองได้ โดยในหลักสูตรจะมีเนื้อหาที่ครอบคลุมตั้งแต่พื้นฐานการบริหารความเสี่ยง การกำกับดูแลที่ดี (Good Governance) และการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ (Compliance) ไปจนกระทั่งถึงแนวคิดการจัดการแบบบูรณาการ GRC เพื่อเสริมสร้างความตระหนัก องค์ความรู้ด้านการบริหารความเสี่ยง และปลูกฝังแนวความคิดการจัดการแบบบูรณาการ GRC ให้แก่พนักงานทุกระดับ

กำหนดให้ผลการบริหารความเสี่ยงเป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดผลการปฏิบัติงาน (Key Performance Indicator: KPI) ประจำปีให้แก่พนักงานและผู้บริหารที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการรับผิดชอบต่องานด้านการบริหารความเสี่ยง เช่น มีการริเริ่มนำผลการบริหารความเสี่ยงด้านความปลอดภัยและอาชีวอานามัย (Health & Safety Risk) มาประยุกต์ใช้เป็นหนึ่งใน KPI ของคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทํางาน (Occupational Safety, Health and Work Environment Committee: OHS) ในบางหน่วยธุรกิจ

ไม่เพียงเท่านั้น เซ็นทรัล รีเทล ยังให้ความสำคัญกับปัจจัยความเสี่ยงต่าง ๆ ที่เกิดจากการพัฒนารูปแบบธุรกิจและการให้บริการใหม่ ๆ หรือการนำอุปกรณ์ เครื่องมือ หรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาประยุกต์ใช้ร่วมกับการดำเนินธุรกิจของเซ็นทรัล รีเทล เช่น ความเสี่ยงด้านความปลอดภัยจากการปรับปรุงหรือการรีโนเวทสาขา ความเสี่ยงจากการที่หน่วยธุรกิจไม่สามารถขยายสาขาได้ตามเป้าหมายทางธุรกิจ ความเสี่ยงจากการพัฒนาธุรกิจใหม่ (New Business Model) โดย เซ็นทรัล รีเทล ได้มีการกำหนดกรอบและแนวทางการบริหารความเสี่ยงโครงการและมีการกำหนด New Business Checklist เพื่อให้ธุรกิจใหม่ (New Business Model) เช่น Tops Care, Tops vita, Pet & Me ใช้เป็นแนวทางในการบริหารความเสี่ยง

ความเสี่ยงอุบัติใหม่

เซ็นทรัล รีเทล มีการระบุและประเมินความเสี่ยงอุบัติใหม่ หรือความเสี่ยงที่ปัจจุบันมีผลกระทบระดับต่ำแต่อาจส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจในอนาคตอย่างต่อเนื่อง โดยระบุให้ความเสี่ยงที่เกิดจากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และความเสี่ยงด้านการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพเป็นความเสี่ยงอุบัติใหม่ที่มีนัยสำคัญต่อ เซ็นทรัล รีเทล ซึ่งสอดคล้องกับ World Economic Forum Global Risks Report 2567 ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบอันอาจเกิดจากความเสี่ยงอุบัติใหม่ข้างต้น เซ็นทรัล รีเทล จึงให้ความสำคัญกับการเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผลกระดับ โดยมีรายละเอียดดังตาราง

ความเสี่ยงที่เกิดจากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)
ประเภท ด้านเทคโนโลยี
คำอธิบาย

AI ถือได้ว่าเป็นเทคโนโลยีที่นัยสำคัญที่จะสามารถเข้ามาปรับเปลี่ยนรูปแบบของเศรษฐกิจและสังคมได้ นอกจากนี้ยังนำมาซึ่งประโยชน์มากมายทั้งด้านการทำงาน การอำนวยความสะดวก การแพทย์ การทหาร การเกษตรและอุตสาหกรรม ซึ่งหากผู้ประกอบการรายใดไม่สามารถนำ AI เข้ามาบูรณาการร่วมกับการดำเนินงานได้รวดเร็วเพียงพอพวกเขาเหล่านั้นอาจสูญเสียโอกาสทางธุรกิจได้

นอกเหนือจากประโยชน์ที่จะได้รับจาก AI แล้ว AI ยังอาจนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์มากมาย ทั้งการนำ AI ไปใช้ในทางที่ผิดซึ่งอาจก่อให้เกิดการก่อการร้ายหรือการจู่โจมทางไซเบอร์รูปแบบใหม่ ๆ ความสามารถในการผลิตหรือเข้าถึงอาวุธ หรือความสามารถในการเข้าถึงวิธีการฆ่าตัวตาย การแทนที่การทำงานของมนุษย์ การแทนที่รูปแบบหรือวิถีชีวิตในปัจจุบันของผู้คนในสังคม การหลงเชื่อในข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง

อ้างอิง:

https://www3.weforum.org/docs/WEF_The_Global_Risks_Report_2024.pdf

ผลกระทบ

เซ็นทรัล รีเทล อาจสูญเสียโอกาสทางธุรกิจหากไม่สามารถนำเทคโนโลยี AI เข้ามาประยุกต์ใช้ร่วมกับการดำเนินธุรกิจได้รวดเร็วเพียงพอ แต่หากนำเทคโนโลยี AI เข้ามาประยุกต์ใช้โดยขาดความรอบคอบ เซ็นทรัล รีเทล อาจได้รับผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ เช่น พนักงานอาจเกิดความไม่พึงพอใจที่ เซ็นทรัล รีเทล เลือกที่จะแทนที่พนักงานบางตำแหน่งงานด้วยเทคโนโลยี AI จนอาจนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงหรือกระทั่งเกิดการประท้วง หรือลูกค้าอาจได้รับคำแนะนำที่ไม่ถูกต้องจากการใช้งานเทคโนโลยี AI ของเซ็นทรัล รีเทล จนอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อลูกค้า หรือเทคโนโลยี AI ของเซ็นทรัล รีเทล อาจส่งเสริมให้เกิดการสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ หรือผลการปฏิบัติงานด้านต่าง ๆ ของเซ็นทรัล รีเทล อาจลดต่ำลงเนื่องจากหลงเชื่อผลการวิเคราะห์ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องของเทคโนโลยี AI เช่น การสำรองสินค้าคงคลังที่มากเกินความจำเป็น และรวมไปถึงความเสี่ยงจากการรั่วไหลของข้อมูลเนื่องจากการใช้เทคโนโลยที AI ที่ขาดความระมัดระวังรอบคอบ

ช่วงระยะเวลา 2567 - 2569
มาตรการตอบสนองต่อความเสี่ยง
  • เซ็นทรัล รีเทล มีการทำแผนงานพัฒนาบุคลากรเพื่อยกระดับความรู้ความเข้าใจของพนักงานเกี่ยวกับเทคโนโลยี AI และมีการสอดแทรกการมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับพนักงานของบริษัทฯ (Human in the loop) ควบคู่ไปกับการพัฒนา AI
  • กลยุทธ์ด้าน AI-Driven Experience: การเพิ่มประสบการณ์การจับจ่ายใช้สอยหรือการเลือกซื้อสินค้า และการใช้บริการของลูกค้าที่เหนือกว่าการมีปฏิสัมพันธ์เชิงธุรกรรมร่วมกับลูกค้าเพียงด้านเดียว
  • กลยุทธ์ด้าน AI-Power Operation: นำ AI เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการดำเนินงานมากขึ้น เช่น การช่วยพยากรณ์ความต้องการสินค้า/ผลิตภัณฑ์ในช่วงเวลาต่างๆ หรือ การพัฒนา catalog ของสินค้าให้มีความน่าสนใจเพื่อดึงดูดลูกค้า
  • กลยุทธ์ด้าน AI-Enhanced Employee: นำ AI มาใช้เพิ่มศักยภาพให้กับพนักงานทั่วทั้งองค์กร เช่น การสรุปข้อมูลหรือข้อคิดเห็นของลูกค้าจำนวนมาก เพื่อช่วยให้พนักงานสามารถวิเคราะห์แนวโน้มความต้องการของลูกค้าต่อการทำโปรโมชันต่าง ๆ
  • เซ็นทรัล รีเทล มีการจัดเก็บข้อมูลให้อยู่ภายในระบบนิเวศของบริษัทฯ ไม่ได้กระจัดกระจายอยู่กับบริษัทที่ได้รับการว่าจ้าง (Vendor) เพื่อป้องกันกรณีที่ระบบของ Vendor อาจเผชิญกับการหยุดชะงักจากการถูกเจาะระบบหรือระบบขัดข้องจนอาจส่งผลให้ข้อมูลของบริษัทฯ รั่วไหล
  • เซ็นทรัล รีเทลว่าจ้าง Vendor หลายแห่งเพื่อกระจายความเสี่ยงในกรณีที่ Vendor รายใดรายหนึ่งเผชิญเหตุหยุดชะงักของระบบ
  • มีการผลักดันให้ Vendor ลงนามในสัญญาการดำเนินธุรกิจร่วมกันต่อการไม่นำข้อมูลของบริษัทฯ ไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตน ที่อาจนำไปสู่ความเสี่ยงจากบุคคลภายนอก (Third Party Risk)
ความเสี่ยงด้านการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
ประเภท สิ่งแวดล้อม
คำอธิบาย

กิจกรรมอันเกิดจากมนุษย์และการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจทำให้เกิดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยเดิมของสิ่งมีชีวิตส่งผลให้เกิดอพยพถิ่นฐานหรือกระทั่งเกิดการสูญพันธ์ของสิ่งมีชีวิตหลากหลายสายพันธ์ โดยความเสี่ยงนี้เป็นความเสี่ยงที่ถูกจัดให้อยู่ในความเสี่ยงลำดับต้น ๆ จากผลการสำรวจ World Economic Forum Global Risks Perception Survey 2566-2567

อ้างอิง:

https://www3.weforum.org/docs/WEF_The_Global_Risks_Report_2024.pdf

ผลกระทบ

การอพยพถิ่นฐานและการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตหลากหลายสายพันธุ์อาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศทางธรรมชาติ ทำให้อาจเกิดการขาดแคลนทรัพยากรทางธรรมชาติที่สำคัญต่อการเพาะปลูกและการปศุสัตว์ ส่งผลให้คุณภาพและปริมาณของผลผลิตทางการเกษตรที่เป็นกลุ่มสินค้าหลักของเซ็นทรัล รีเทล รวมถึงอาจก่อให้เกิดสภาพอากาศที่แปรปรวนไปจนกระทั่งถึงการเพิ่มโอกาสของภัยพิบัติทางธรรมชาติซึ่งอาจนำไปสู่ความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของเซ็นทรัล รีเทล

ช่วงระยะเวลา 2567 - 2577
มาตรการตอบสนองต่อความเสี่ยง
  • ตั้งเป้าหมายลดความสูญเสียด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (No Net Loss: NNL) สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อระบบนิเวศ (Net Positive Impact) และบรรลุเป้าหมายการสูญเสียป่าไม้สุทธิเป็นศูนย์ (No Net Deforestation)
  • สร้างกระบวนการประเมินความเสี่ยง การตรวจสอบติดตาม และการบริหารจัดการด้านความหลากหลายทางชีวภาพตลอดห่วงโซ่คุณค่า ครอบคลุมพื้นที่ที่มีความสำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพ
  • อนุรักษ์และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพโดยความร่วมมือกับพันธมิตรภายนอก เช่น องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย (WWF Thailand) มูลนิธิพัฒนาเกษตรอินทรีย์ไทย และไทยคม จำกัด (มหาชน)
  • จัดหาวัตถุดิบและสินค้าอย่างมีความรับผิดชอบ และเพิ่มจำนวนร้านค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งเสริมทางเลือกการอุปโภคบริโภคที่ยั่งยืน
  • การเปิดเผยข้อมูลของการจัดหาสินค้าต่อลูกค้าอย่างโปร่งใส เช่น ข้อมูลผู้ผลิต ข้อมูลโภชนาการ สอดคล้องตามแนวปฏิบัติสากล
  • คัดเลือกสินค้าที่ได้รับรองฉลากมาตรฐานด้านความยั่งยืนเพื่อยกระดับคุณภาพในการจัดหาสินค้าของบริษัทฯ
  • กำหนดเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมไว้ในจรรยาบรรณคู่ค้าเพื่อคัดกรองคู่ค้าที่อาจมีความเสี่ยงด้านความยั่งยืนสูง
  • การมีส่วนร่วมกับชุมชนท้องถิ่น และการให้ความรู้ต่อการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม เพื่อสนับสนุนให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ

โครงการสำคัญ

Risk Trend ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจค้าปลีก 2567

ในวันที่ 19 มิถุนายน 2567 หน่วยงานบริหารความเสี่ยง (CRC Risk Management: RMU) ได้เชิญ Deloitte Touche Tohmatsu Jaiyos Advisory Co., Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำด้านบัญชี มาเป็นผู้บรรยายเพื่อให้ความรู้ เสริมสร้างวัฒนธรรมและกระบวนการบริหารความเสี่ยงภายในองค์กร ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยมีคณะกรรมการบริษัทและผู้บริหารระดับสูงเป็นผู้เข้าร่วมฟังบรรยาย

RM workshop training 2567

ในวันที่ 28 มิถุนายน 2567 หน่วยงานบริหารความเสี่ยงได้เชิญผู้เชี่ยวชาญพิเศษจากจุฬาลงกรมหาวิทยาลัยมาเป็นผู้บรรยายและให้ความรู้ พร้อมทั้งจัดกิจกรรม workshop เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้และทักษะด้านการบริหารความเสี่ยงให้แก่ Risk Champion และผู้บริหารบางส่วน

RM Newsletter

ในปี 2567 หน่วยงานบริหารความเสี่ยงได้ทำสื่อการเรียนรู้ในรูปแบบ Infographic รายเดือนรวทั้งสิ้น 12 ฉบับ เพื่อสื่อสารและเผยแพร่องค์ความรู้ให้แก่พนักงานทุกระดับผ่านช่องทาง email

CRC-Risk Management and GRC E-Learning

ในปี 2567 หน่วยงานบริหารความเสี่ยงได้ทำสื่อการเรียนรู้ในรูปแบบ e-learning โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความตระหนัก องค์ความรู้ด้านการบริหารความเสี่ยง และปลูกฝังแนวความคิดการจัดการแบบบูรณาการ GRC ให้แก่พนักงานทุกระดับ ซึ่งจะประกอบไปด้วยเนื้อหาหลัก 2 ส่วนนั่นคือ พื้นฐานการบริหารความเสี่ยง และแนวคิดการบูรณาการ GRC

เรื่องราวของเรา