Journey to Zero: การจัดการการสูญเสียอาหารและขยะอาหาร
คนทั่วไปอาจมองขยะอาหารเป็นเพียงแค่เศษอาหารที่ทิ้งไปอย่างสูญเปล่า แต่จริงๆ แล้วขยะอาหารเป็นหนึ่งในตัวการที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน สามารถสร้างก๊าซเรือนกระจกมากถึงร้อยละ 8 สำหรับประเทศไทย กว่าร้อยละ 60 ของขยะมาจากขยะอาหาร คนไทย 1 คนสร้างขยะอาหารสูงถึง 254 กิโลกรมต่อปีเลยทีเดียว (ที่มา https://www.prd.go.th) บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ตระหนักถึงประเด็นดังกล่าว จึงกำหนดแนวทางการจัดการที่มุ่งเน้นการลดขยะอาหาร และการจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพตามมาตรการป้องกันการเกิดขยะอาหาร ซึ่งข้อมูลของขยะอาหารจากแต่ละขั้นตอนจะถูกรวบรวมและติดตามอย่างต่อเนื่อง เพื่อติดตามการลดลงของการสูญเสียอาหารและลดขยะอาหารทั้งหมด
- Prevention: ลดการเกิดอาหารส่วนเกิน ให้ความต้องการสอดคล้องกับการผลิต
- Optimization: การจัดสรรอาหารให้เกิดประโยชน์สูงสุดก่อนนำไปกำจัด
- Recycle: การผลิตก๊าซชีวภาพและปุ๋ย
- Recovery: การนำขยะที่มีความชื้นต่ำและมีคุณสมบัติที่เหมาะสมมาผลิตพลังงานความร้อน
- Disposal: การกำจัดขยะที่ไม่ใช้แล้วด้วยการเผาหรือฝังกลบ
โครงการ Samui Zero Waste Model
หนึ่งในโครงการของบริษัทฯ ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อลดปริมาณการสูญเสียอาหารและลดการเกิดขยะอาหารทั้งหมดที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง คือ โครงการ Samui Model ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2564 เพราะเล็งเห็นว่า เกาะสมุยเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมในจังหวัด สุราษฎร์ธานี แต่เนื่องจากสภาพทางภูมิศาสตร์ที่เป็นเกาะ ทำให้ขยะอาหารจำนวนมากเป็นปัญหาของเกาะ โครงการดังกล่าวเริ่มต้นด้วยการคัดแยกขยะภายในห้างสรรพสินค้าของบริษัทฯ บนเกาะสมุย โดยพนักงานจะเก็บและคัดแยกขยะอาหารออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1) อาหารที่ต้องทิ้งแต่ยังรับประทานได้เพื่อแปรรูปเป็นอาหารสัตว์ และ 2) อาหารที่ต้องทิ้งและที่ไม่สามารถรับประทานได้แล้ว เพื่อแปรรูปเป็นปุ๋ยหมักและก๊าซชีวภาพ (Biogas) สำหรับใช้หุงต้มในครัวเรือน โดยบริษัทฯมีแผนที่จะขยายการดำเนินงานไปยังพื้นที่อื่น ๆ ด้วย ทั้งนี้ ในปี 2565 โครงการ Samui Zero Waste Model ช่วยลดขยะอาหารได้ถึง 41.7 ตัน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 105.51 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
นอกจากนี้ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) สนับสนุนชุมชนท้องถิ่นในการจัดตั้ง "Sustainable Samui Community Enterprise" (วิสาหกิจชุมชนสมุยยั่งยืน) ซึ่งเป็นส่วนขยายของ Samui Model ที่ช่วยให้ชุมชนมีรายได้จากการใช้ปุ๋ยหมักที่เกิดจากขยะอาหารในโครงการเพื่อปลูกผักและผลไม้ และนำไปจำหน่ายที่ท็อปส์ซูเปอร์มาร์เก็ต สร้างรายได้ให้กับวิสาหกิจชุมชนรวมกว่า 233,437 บาท รวมทั้งสนับสนุนชุมชนในการจัดการเรื่องด้านต่างๆ เช่น การนำวัสดุเหลือใช้จากโรงงานสแลนกันแดดมาเพื่อเย็บเป็นกระเป๋าวนอยู่ในเกาะสมุยเพื่อลดขยะพลาสติกได้ด้วย
โครงการ Surprise Bag
อาหารที่ระบุว่าใกล้วันหมดอายุมักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นอาหารที่เน่าเสียหรือไม่สามารถรับประทานต่อได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วอาหารเหล่านั้นสามารถนำไปส่งต่อและทำประโยชน์อย่างอื่นได้อีกมากมาย ในธุรกิจค้าปลีกมักมีอาหารจำนวนมากที่ใกล้วัน "best-before" (ควรบริโภคก่อน) ซึ่งไม่สามารถนำมาจำหน่ายได้ และจะต้องถูกทิ้งเป็นขยะอาหารระหว่างกระบวนการจัดการสินค้าคงคลัง ซึ่งอาจส่งผลให้สูญเสียรายได้และขาดประสิทธิภาพในการจัดการทรัพยากร ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้พัฒนาระบบรวบรวมและติดตามข้อมูล เพื่อเช็คอาหารที่ใกล้ถึงวัน "ควรบริโภคก่อน" เพื่อแจ้งให้พนักงานทราบ โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจอาหารของบริษัทฯ ให้นำอาหารเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น เพื่อก่อให้เกิดคุณค่าสูงสุด
นอกจากนั้น ท็อปส์ และ แฟมิลี่มาร์ท มีการบรรจุอาหารที่ยังรับประทานได้ แต่ว่าใกล้ถึงวัน “ควรบริโภคก่อน” ลงใน "Surprise Bags" เพื่อจำหน่ายผ่าน Yindii ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นส่งต่ออาหารชั้นนำของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เน้นการจำหน่ายอาหารจากร้านค้าต่าง ๆ ที่ขายไม่หมด แต่ยังคงปลอดภัยและยังรับประทานได้ ใน Surprise Bags จะถูกบรรจุด้วยเบเกอรี่ ผัก ผลไม้ อาหารพร้อมรับประทาน และวัตถุดิบประกอบอาหารที่ยังมีคุณภาพดีอีกมากมาย โดยลูกค้าสามารถซื้อ Surprise Bags ในราคาย่อมเยา (ต่ำกว่าราคาขายปลีกปกติถึง 50%) ผ่านแอปพลิเคชั่นออนไลน์ Yindii และมารับได้ที่ท็อปส์และแฟมิลี่มาร์ทสาขาต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ ซึ่งโครงการนี้ไม่เพียงช่วยให้ บริษัทฯ สามารถลดขยะอาหารให้เหลือน้อยที่สุด ด้วยการนำไปใช้ใหม่ผ่านรูปแบบการช่วยเหลือด้านอาหาร แต่ยังช่วยสร้างมูลค่าให้กับอาหารส่วนเกิน และทำให้ผู้บริโภคและครอบครัวที่มีรายได้น้อยเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการในราคาที่ถูกลง ทั้งนี้ในปี 2566 ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม บริษัทฯ ได้จำหน่าย Surprise Bags ไปแล้ว 272 ถุง และมีแผนจะขยายแนวคิดนี้ไปทั่วประเทศในอนาคต
โครงการ อาหารปันสุข
ในแต่ละปี 1 ใน 3 ของปริมาณอาหารทั้งหมดทั่วโลก จะถูกทิ้งไปอย่างสูญเปล่า คิดเป็นปริมาณที่สูงถึง 1,300 ล้านตัน ซึ่งบางส่วนในนี้เป็นอาหารที่ยังไม่เคยถูกบริโภคมาก่อน แต่ในขณะเดียวกัน กลับมีคนทั่วโลกที่เผชิญภาวะอดอยากสูงถึง 820 ล้านคน มีอาหารจำนวนมากที่ไม่สามารถกระจายไปสู่ผู้บริโภคเหล่านั้นได้ แทนที่จะทิ้งอาหารไปอย่างไร้คุณค่า ดังนั้น บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จึงได้ดำเนินงานร่วมกับ มูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ ประเทศไทย (Scholars of Sustenance Foundation (SOS) Thailand) ผ่านรูปแบบการบริจาคอาหาร โดย SOS Thailand เป็นพันธมิตรปลายน้ำของบริษัทฯ ในการร่วมกันลดความสูญเสียทางด้านอาหารและลดขยะอาหาร โดย SOS เป็นหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญในการเป็นตัวกลางจัดส่งอาหารที่ไม่สามารถจำหน่ายได้ แต่ยังมีคุณภาพและรับประทานได้ให้กับผู้ที่ต้องการ
นอกจากนั้น บริษัทภายใต้เซ็นทรัล รีเทล ในกลุ่มธุรกิจอาหาร ได้แก่ ท็อปส์ มาร์เก็ต เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ และแฟมิลี่มาร์ท รวมไปถึงศูนย์จำหน่ายอาหารสดของ บริษัทฯ ได้ร่วมมือกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในโครงการ “Food For Good Deed - อาหารปันสุข” เพื่อดำเนินการบริจาคอาหาร โดยมีพนักงานจากบริษัทฯ และพนักงานจาก SOS Thailand ทำการตรวจสอบคุณภาพอาหารอย่างละเอียดตามมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง ก่อนขนส่งอาหารด้วยยานพาหนะควบคุมอุณหภูมิ เพื่อให้เกิดความมั่นใจในความปลอดภัยของอาหารสูงสุด
ในปี 2565 อาหารทั้งหมด 2.5 ล้านมื้อถูกแจกจ่ายให้กับชุมชนกว่า 700 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งช่วยลดการสูญเสียอาหารและลดขยะอาหารในห่วงโซ่คุณค่าได้ถึง 264 ตัน นอกจากนี้ ท็อปส์ มาร์เก็ต และ สสส. ยังได้จัดตั้งครัวชุมชน “Tops Food for All” ในปี 2565 ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมวัตถุดิบอาหารที่ยังมีคุณภาพ แต่ไม่สามารถวางจำหน่ายได้แล้วในศูนย์จำหน่ายอาหารของบริษัทฯ มาประกอบอาหารแจกจ่ายให้ผู้มีรายได้น้อยในชุมชนต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ ซึ่งนอกจากครัวชุมชนแห่งนี้จะช่วยให้บริษัทฯ ลดการสูญเสียอาหารและลดการสร้างขยะอาหารแล้ว ยังเป็นการช่วยผู้ที่มีรายได้น้อยให้สามารถเข้าถึงอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการและได้ประหยัดค่าครองชีพไปพร้อมกัน