การสร้างคุณค่าร่วมกับชุมชน
ความท้าทาย และโอกาส
การสร้างคุณค่าร่วมกับชุมชนเป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยความเข้าใจในบริบททางสังคมและเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่ การดำเนินโครงการเพื่อพัฒนาชุมชนให้เกิดผลลัพธ์ที่ยั่งยืนจำเป็นต้องมีความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนท้องถิ่นเอง อย่างไรก็ตาม การตอบสนองต่อความต้องการที่หลากหลายของชุมชน ตลอดจนการรักษาความต่อเนื่องของโครงการในระยะยาว อาจต้องเผชิญกับข้อจำกัดบางประการ เช่น ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ความแตกต่างด้านวัฒนธรรม และการสื่อสารที่อาจยังไม่ทั่วถึง ซึ่งอาจส่งผลต่อการมีส่วนร่วมและความไว้วางใจระหว่างองค์กรและชุมชน นอกจากนี้ การพัฒนาสินค้าท้องถิ่นให้สามารถแข่งขันในตลาดได้ ทั้งในด้านคุณภาพ มาตรฐาน และการเข้าถึงช่องทางการจำหน่าย ยังเป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่สำคัญในการสร้างคุณค่าร่วมกับชุมชน
แม้จะมีความท้าทาย แต่การสร้างคุณค่าร่วมกับชุมชนก็เปิดโอกาสให้ธุรกิจสามารถพัฒนาแนวทางการดำเนินงานที่ส่งเสริมความยั่งยืนและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในระยะยาว การมีส่วนร่วมกับชุมชนช่วยให้เซ็นทรัล รีเทล เข้าใจความต้องการและปัญหาที่แท้จริง ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการ หรือโครงการที่ตอบโจทย์ได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสในการสร้างภาพลักษณ์องค์กรที่ดี สร้างความไว้วางใจจากผู้มีส่วนได้เสีย และส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมที่ขับเคลื่อนโดยความร่วมมือระหว่างธุรกิจและชุมชน โดยเฉพาะการพัฒนาสินค้าท้องถิ่น ซึ่งสามารถช่วยเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน สร้างมูลค่าเพิ่มจากทรัพยากรในพื้นที่ และกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน
เพื่อให้การสร้างคุณค่าร่วมกับชุมชนเกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง เซ็นทรัล รีเทล ได้ดำเนินการสร้างแผนเชิงกลยุทธ์ที่ยั่งยืน โดยเน้นการทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด การลงทุนในระบบการควบคุมคุณภาพ และสนับสนุนองค์ความรู้และการพัฒนาทักษะให้แก่ชุมชน เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง รวมทั้งการจัดแคมเปญการตลาดเฉพาะกลุ่มเพื่อกระตุ้นการรับรู้ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นให้กับลูกค้า และการสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจท้องถิ่น เพื่อสร้างงานและรายได้ให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน ช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างองค์กรและชุมชน นำไปสู่การเติบโตร่วมกันทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม ในขณะเดียวกันยังสามารถเสริมสร้างความแตกต่างที่โดดเด่น เพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดในระยะยาว ส่งเสริมการสร้างภาพลักษณ์ที่ดี และได้รับความไว้วางใจจากผู้มีส่วนได้เสีย
แนวทางการบริหารจัดการ
กรอบการดำเนินงานการสร้างคุณค่าร่วมกับชุมชน
คณะทำงานด้านความยั่งยืนมีหน้าที่รายงานผลการดำเนินงานด้าน ESG ของ เซ็นทรัล รีเทล ต่อผู้บริหารและคณะกรรมการบรรษัทภิบาลและการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนอย่างสม่ำเสมอในทุก ๆ ปี โดยตัวแทนเจ้าหน้าที่ทางด้าน ESG และเจ้าหน้าที่ฝ่ายการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนทำหน้าที่รับผิดชอบในการนำแผนการพัฒนาชุมชนและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นไปบูรณาการให้สอดคล้องกับกรอบการดำเนินงานทางด้านการสร้างคุณค่าร่วม ซึ่งรวมถึงการจัดหาผลิตภัณฑ์จากแหล่งชุมชน การร่วมมือกับองค์กรท้องถิ่น และการส่งเสริมให้พนักงานจัดทำโครงการอาสาเพื่อชุมชนในระดับการปฏิบัติงานโดยการแบ่งปันความรู้กับชุมชน และเสนอแนวคิดใหม่ ๆ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น พร้อมทั้งการปฏิบัติตามนโยบายความรับผิดชอบต่อสังคมของ เซ็นทรัล รีเทล เพื่อช่วยเสริมสร้างความมั่นใจต่อการสื่อสารและความร่วมมือที่มีประสิทธิภาพในทุกระดับเพื่อสนับสนุนโครงการเหล่านี้
นโยบายความรับผิดชอบต่อสังคม
นอกจากนี้ เซ็นทรัล รีเทล ยังคงยึดมั่นในจุดยืนบนแนวคิดการสร้างคุณค่าร่วม (CSV) เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต การศึกษา สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และชุมชนต่าง ๆ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงและการเติบโตอย่างยั่งยืน สร้างทางเลือกและโอกาสที่ดีขึ้นให้กับทุกคน ผ่าน 6 กลยุทธ์หลัก ดังนี้
Community - การพัฒนาศักยภาพและส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน
การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน มุ่งเน้นการดำเนินกิจกรรมเพื่อพัฒนาความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพ นำไปสู่การสร้างรายได้ที่มั่นคงและความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนของกลุ่มเกษตรกรและผู้ผลิตสินค้าพื้นเมือง โดยดำเนินการสอดคล้องกับความต้องการของแต่ละชุมชนในหลากหลายรูปแบบ ประกอบด้วย
- การพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชนด้านการออกแบบสินค้า การออกแบบหีบห่อบรรุจัณฑ์ และมาตรฐานความปลอดภัย
- การลงทุนและพัฒนาอาคาร
- การรับซื้อผลิตภัณฑ์เพื่อนำมาจำหน่ายในช่องทางโมเดิร์นเทรด
- การสนับสนุนการขนส่ง
- การสนับสนุนการทำการตลาดและช่องทางการสื่อสาร
- แนะนำความรู้ทางธุรกิจ
มากไปกว่านั้นยังได้มีการดำเนินงานโดยมุ่งเน้นในการลดความเหลื่อมล้ำ ให้โอกาสทุกคนในสังคม พัฒนาองค์รวมในทุกมิติ มุ่งสู่การเป็นศูนย์การเรียนรู้ และต่อยอดสู่การท่องเที่ยวชุมชนยั่งยืน ที่ประกอบด้วยแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ที่เน้นเชิดชูมรดกทางประเพณีและวัฒนธรรมของท้องถิ่น การท่องเที่ยวเชิงเกษตรอินทรีย์ และแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ที่เน้นการมอบประสบการณ์ด้านธรรมชาติและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
Inclusion - ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาคในการเข้าถึงโอกาสอย่างเท่าเทียม
เซ็นทรัล รีเทล มุ่งมั่นในการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเสมอภาคในการเข้าถึงโอกาส โดยเฉพาะด้านการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนที่ต้องการการสนับสนุนเป็นพิเศษ ผ่านโครงการพัฒนาศักยภาพและการจัดกิจกรรมทางสังคมเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ส่งเสริมการศึกษาให้เยาวชนที่ขาดโอกาสให้มีความรู้ความสามารถทัดเทียมสากล ผ่านศูนย์การเรียนรู้ 8 ด้าน และสนับสนุนครูผู้สอนให้มีทักษะการโค้ช ลดการเรียนการสอนแบบท่องจำ รวมถึงส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมผ่านโครงงานคุณธรรม
Talent - พัฒนาศักยภาพที่เป็นเลิศของบุคลากร
เซ็นทรัล รีเทล มุ่งมั่นที่จะพัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพและความเป็นเลิศ โดยส่งมอบความรู้และทักษะในการทำงาน ควบคู่ไปกับการส่งเสริมสมดุลชีวิตและการทำงาน (work-life balance) เพื่อสร้างสุขภาวะและคุณภาพชีวิตที่ดี ผ่านกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ เช่น การศึกษา ฝึกอบรม ดูงานต่างประเทศ กิจกรรมสันทนาการ และกิจกรรมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อสร้างความเคารพในความหลากหลายภายในองค์กร ซึ่งการพัฒนาบุคลากรอย่างรอบด้านนี้ จะนำไปสู่ความก้าวหน้าและความสำเร็จขององค์กรในระยะยาว
Circularity - ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน
เซ็นทรัล รีเทล มุ่งมั่นขับเคลื่อนโลกสีเขียวอย่างยั่งยืน โดยสนับสนุนธุรกิจในเครือให้บูรณาการนโยบายด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน รวมถึงระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และการจัดการของเสียผ่านกระบวนการใช้ซ้ำ หมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ และการผลิตใหม่
Climate - การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
อีกหนึ่งเป้าหมายในการเป็น Net Zero ภายในปี 2593 หรือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โดยส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนสำหรับการดำเนินธุรกิจในกลุ่ม มุ่งผลักดันทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นพนักงานในกลุ่มธุรกิจ ซึ่งรวมไปถึงผู้บริหารระดับสูง คู่ค้า ลูกค้า และพันธมิตร ให้คำนึงถึงการบริหารจัดการการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและส่งเสริมกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดี สอดคล้องกับเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมของโลก
Nature – การอนุรักษ์ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ
เซ็นทรัล รีเทล ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อความยั่งยืน โดยดำเนินโครงการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืนและฟื้นฟูด้วยการทำเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การปลูกป่าอนุรักษ์ต้นน้ำ การป้องกันไฟป่า และโครงการ Central Green เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง ลดฝุ่นควัน และสร้างพื้นที่สันทนาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ
เซ็นทรัล ทำ
กระบวนการสร้างคุณค่าร่วม (Creating Shared Values)
Care for the Community ซึ่งเป็นหนึ่งในมิติหลักที่กำหนดในปรัชญา CRC Care คือการยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยการขยายโครงการ Creating Shared Value (CSVs) ไปยังชุมชนอื่น ๆ เซ็นทรัล รีเทล ตั้งใจที่จะบรรลุเป้าหมายนี้ โดยมีกรอบการดำเนินงานการสร้างคุณค่าร่วมเป็นกลยุทธ์หลักของ เซ็นทรัล รีเทล ในการดำเนินโครงการการสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจของชุมชนและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นให้เกิดผลลัพธ์ขึ้นอย่างแท้จริง ตามรายละเอียดดังนี้
1. การคัดเลือกชุมชนและสถานที่โครงการจะพิจารณาจากเกณฑ์ต่อไปนี้:
- ศักยภาพของผลิตภัณฑ์: ชุมชนผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูงและมีศักยภาพในการพัฒนา
- มรดกทางวัฒนธรรม: ชุมชนมีความโดดเด่นทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์
- การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม: ชุมชนมีความมุ่งมั่นในการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม
- ความเป็นผู้นำ: ผู้นำชุมชนมีความสามารถในการทำงานร่วมกับสมาชิกในชุมชนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและรายได้ของชุมชน
- ความโปร่งใส: ชุมชนมีความโปร่งใสในการดำเนินงานและการตัดสินใจ
2. การมีส่วนร่วมกับชุมชน
เซ็นทรัล รีเทล สามารถมีส่วนร่วมกับสมาชิกชุมชนและรวบรวมข้อมูลเชิงลึกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการสำรวจความคิดเห็น การสนทนากลุ่มรวมถึงกลุ่มเปราะบาง และกิจกรรมการมีส่วนร่วมในการรับฟังข้อคิดเห็นและข้อมูลต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้มั่นใจได้ว่าโครงการและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นของชุมชนจะตอบสนองต่อความต้องการและความสำคัญของแต่ละชุมชนอย่างแท้จริง
3. การบูรณาการด้านการพัฒนาชุมชนและการเพิ่มคุณค่า
การออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์
- ร่วมมือกับชุมชนในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์โดยใช้นวัตกรรมจากภูมิปัญญาและประเพณีท้องถิ่น
- ยกระดับผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นด้วยการเพิ่มมูลค่าเพื่อดึงดูดตลาดโลกมากยิ่งขึ้น
การเสริมสร้างศักยภาพ
- แบ่งปันความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจค้าปลีกผ่านการฝึกอบรบ และการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อปรับปรุงการออกแบบผลิตภัณฑ์ เทคนิคการผลิต การควบคุมคุณภาพ และการตลาดให้กับสมาชิกในชุมชน
การลงทุนด้านสถานที่และอุปกรณ์
- สนับสนุนการลงทุนด้านสถานที่และอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการผลิตและบรรจุสินค้า
การสนับสนุนช่องทางการจัดจำหน่าย
- ใช้ประโยชน์จากช่องทางการขายที่มีอยู่เพื่อสนับสนุนและสร้างคุณค่าร่วมกับชุมชนผ่านห้างสรรพสินค้า แพลตฟอร์มออนไลน์ และโครงการเพื่อชุมชนต่าง ๆ เช่น โครงการชุมชนเกษตรอินทรีย์วิถีชีวิตยั่งยืนแม่ทา
4. การติดตามและประเมินผลอย่างต่อเนื่อง
- ติดตามความคืบหน้าและผลกระทบจากโครงการต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อระบุพื้นที่ที่ต้องปรับปรุงและมั่นใจว่าจะเกิดประโยชน์ระยะยาวทั้งต่อชุมชนและเซ็นทรัล รีเทล
- เสริมสร้างการสื่อสารและการมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่องกับชุมชน ผ่านการจัดกลุ่มสนทนาประจำปี เพื่อปรับโครงการให้สอดคล้องกับความต้องการและบริบทที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงของชุมชน
- จัดตั้งช่องทางการร้องเรียนเพื่อรองรับความกังวลของชุมชนและสังคม แม้ว่าจะยังไม่พบปัญหาใด ๆ ก็ตาม
โครงการสำคัญ
โครงการศูนย์การเรียนรู้พัฒนาผลผลิตการเกษตรและผลิตภัณฑ์ชุมชน บ้านเทพพนา อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ
เซ็นทรัล รีเทล ร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น สถาบันการศึกษา และวิสาหกิจชุมชนบ้านเทพพนา จังหวัดชัยภูมิ จัดทำโครงการศูนย์การเรียนรู้พัฒนาผลผลิตการเกษตรและผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยเน้นการเกษตรที่มีมูลค่าสูง และใช้เทคนิคการผลิตที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ โดยโครงการริเริ่มตั้งแต่ปี 2565 จนถึงปัจจุบันได้เปลี่ยนพื้นที่เกษตรเสื่อมโทรมกว่า 5,000 ไร่ ให้เป็นโมเดลของพื้นที่เกษตรยั่งยืน โดยมีการปลูกอะโวคาโดและผลไม้ที่มีมูลค่าสูงภายในระบบวนเกษตร โดยผลผลิตจากโครงการจัดจำหน่ายที่ ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต และจริงใจ Farmers’ Market เพื่อให้เกษตรกรได้รับประโยชน์จากโอกาสทางการค้าที่เป็นธรรม และราคาที่แข่งขันสำหรับผลผลิต รวมทั้งสนับสนุนการแลกเปลี่ยนความรู้และพัฒนาศักยภาพของชุมชน และพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนของชุมชน เช่น ร้านอาหารที่นำเสนออาหารพื้นเมือง ร้านกาแฟ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ โดยในปี 2567 โครงการสามารถสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนกว่า 41 ล้านบาท และดึงดูดนักท่องเที่ยวกว่า 10,000 รายต่อปี ซึ่งช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมของชุมชนให้ดียิ่งขึ้น

โครงการชุมชนเกษตรอินทรีย์วิถีชีวิตยั่งยืนแม่ทา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่
เซ็นทรัล รีเทล ร่วมกับ มูลนิธิสายใยแผ่นดิน (Earth Net Foundation) ดำเนินโครงการพื้นที่วิถีชีวิตยั่งยืนแม่ทา ตั้งแต่ปี 2560 สนับสนุนโครงการด้านเกษตรอินทรีย์เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรรุ่นใหม่มีบทบาทขับเคลื่อนการทำเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน โดยนอกจากเป็นแหล่งเพาะปลูกผลผลิตอินทรีย์ที่มีคุณภาพจากต้นทางแล้ว เซ็นทรัล รีเทล ยังส่งเสริมชุมชนด้านการพัฒนาผลผลิต การรับซื้อ การสร้างแบรนด์ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ และการสนับสนุนช่องทางการจัดจำหน่ายผลผลิตอินทรีย์ที่ จริงใจ Farmers’ Market และ ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต นอกจากนี้ ยังให้การสนับสนุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการผลิตและจัดจำหน่าย ผ่านการก่อสร้างอาคารอบรมและห้องคัดแยกเมล็ดพันธุ์อินทรีย์ การปรับปรุงอาคารคัดบรรจุผักให้เป็นไปตามมาตรฐานสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อ.ย.) ติดตั้งเครื่องปรับอากาศภายในอาคาร ตลอดจนจัดซื้อรถขนส่งห้องเย็นให้กับชุมชน
นอกเหนือจากการพัฒนาพื้นที่เพาะปลูก เซ็นทรัล รีเทล ยังมุ่งสร้างรายได้เพิ่มเติมให้กับชุมชนผ่านการท่องเที่ยว โดยสนับสนุนกลุ่มเกษตรรุ่นใหม่ 20 ราย จัดตั้ง ‘วิสาหกิจชุมชนแม่ทา ออร์แกนิค’ เพื่อรองรับกิจกรรมด้านเกษตรแบบยั่งยืนและการท่องเที่ยววิถีชุมชนผ่านการเป็นศูนย์การเรียนรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ และการจัดทำที่พักโฮมสเตย์ เพื่อให้ผู้สนใจเรียนรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ได้เข้าพัก พร้อมไปกับการเรียนรู้การเกษตรอย่างยั่งยืน ในปี 2567 โครงการวิถีชีวิตยั่งยืนแม่ทาสามารถสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนกว่า 14 ล้านบาท มีคนในชุมชนเข้าร่วมมากกว่า 130 ครัวเรือน โดยในส่วนของการท่องเที่ยว มีผู้เข้าอบรบและดูงานในชุมชนแม่ทาจำนวน 800 คน


โครงการศูนย์การเรียนรู้ทอผ้าย้อมครามและสีธรรมชาติ บ้านกุดจิก
วิสาหกิจชุมชนทอผ้าแปรรูปบ้านกุดจิก อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร มีเป้าหมายในการสานต่อภูมิปัญญาพื้นถิ่น ด้านการย้อมผ้าด้วยคราม เทคนิคการมัดย้อมเพื่อให้เกิดลวดลายต่างๆ และยกระดับการย้อมสีธรรมชาติ ด้วยพืชให้สีชนิดต่างๆ ที่ปลูกตามธรรมชาติ เช่น ต้นคราม กาพุด เพกา อินทนิลน้ำ ต้นประดู่ ต้นจิก เป็นการอนุรักษ์ต้นไม้ท้องถิ่นให้คนรุ่นหลังได้ใช้ประโยชน์ และคงคุณค่าด้านงานหัตถกรรม ผ่านโครงการป่าให้สี บนพื้นที่ 18 ไร่ ซึ่งสอดคล้องกับกับกลยุทธ์การฟื้นฟูพื้นที่สีเขียวของเซ็นทรัล รีเทล รวมทั้งยังเป็นการสร้างความมั่นคงของวัตถุดิบในการย้อมสีธรรมชาติให้กับชุมชนบ้านกุดจิก พร้อมรองรับการเติบโตของหัตถกรรมพื้นบ้านที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด และเป็นการเตรียมความพร้อมในการก้าวไปสู่แหล่งท่องเที่ยวชุมชนด้านวัฒนธรรม
โครงการช่วยส่งเสริมการฟื้นฟูเทคนิคการย้อมครามแบบดั้งเดิม ผสมผสานการออกแบบให้ทันสมัย เช่น การย้อมผ้าด้วยเทคนิคพิมพ์ลายเทียน และการมัดย้อมลวดลายสไตล์ชิโบริมาใช้ในการออกแบบ นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การสร้างโรงย้อมคราม โรงตากผ้า ห้องแสดงสินค้าผลิตภัณฑ์ ร้านค้าชุมชน และการฝึกทักษะเพิ่มองค์ความรู้ โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในการช่วยพัฒนากระบวนการย้อมสีธรรมชาติให้มีความคงทนมากยิ่งขึ้น เทคนิคการย้อมที่ช่วยแก้ปัญหาให้กับชุมชน ทำให้ชุมชนบ้านกุดจิกมีความสามารถในการย้อมสีธรรมชาติได้หลากหลาย ซึ่งช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและพัฒนางานดีไซน์เพื่อเพิ่มความหลากหลายให้กับสินค้า
ด้านช่องทางการจัดจำหน่าย กลุ่มเซ็นทรัล ได้พัฒนารูปแบบและคุณภาพสินค้าในระดับสากลร่วมกับ เซ็นทรัล ทำ และจำหน่ายสินค้าที่ร้าน Good Goods ตามสาขาต่างๆ รวมถึงห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล (CDS) ที่ได้เห็นความสำคัญงานฝีมือของชุมชนบ้านกุดจิก ประเภทผ้าฝ้ายเข็นมือ จึงได้สนับสนุนให้ชุมชนได้มาแสดงผลงานในเทศกาล Songkran Market ณ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ชิดลม เพื่อช่วยประชาสัมพันธ์สินค้าภูมิปัญญาท้องถิ่นและถ่ายทอดเรื่องราวของชุมชนบ้านกุดจิก ให้กับลูกค้าทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ
โครงการนี้ทำให้รายได้ของครัวเรือนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยรายได้ของชุมชนเพิ่มขึ้นจาก 350,000 บาทในปี 2563 เป็นจำนวน 3.6 ล้านบาทในปี 2567 จำนวนสมาชิกในวิสาหกิจทอผ้าขยายจาก 30 เป็น 61 ครัวเรือน ซึ่งสะท้อนถึงความสามารถของโครงการในการมีส่วนร่วมกับชุมชน นอกจากนี้ โครงการป่าให้สียังช่วยลดการพึ่งพาการใช้สีย้อมสังเคราะห์ เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพในท้องถิ่น และสนับสนุนกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยว 3,000 คนต่อปี และสร้างรายได้เพิ่มเติม 6.8 ล้านบาท

