การสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจของชุมชน และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น
เซ็นทรัล รีเทล มีความมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่นเพื่อสร้างคุณค่าร่วมกัน ลดความไม่เท่าเทียม และยกระดับคุณภาพชีวิตในชุมชนและสังคมโดยรวม เป้าหมายของเซ็นทรัล รีเทล คือ การสร้างความก้าวหน้าและส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ทุกคนผ่านการสร้างความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้เสีย
อย่างไรก็ตาม ความมุ่งมั่นของเซ็นทรัล รีเทล ที่จะสร้างคุณค่าร่วมกันกับชุมชนอาจต้องเผชิญความท้าทายบางประการ เนื่องจากต้นทุนของการผลิตสินค้าท้องถิ่นอาจจะมีต้นทุนสูงกว่าสินค้าจากคู่ค้ารายใหญ่ที่ผลิตในเชิงปริมาณได้มาก (economy scale) ขณะเดียวกัน การควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นอาจต้องมีมาตรการควบคุมคุณภาพเพิ่มเติมจากปกติ รวมถึงการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับชุมชนด้วย นอกจากนี้ ยังเป็นเรื่องท้าทายสำหรับผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นในการแข่งขันกับแบรนด์ที่ติดตลาดอยู่แล้ว จึงทำให้มีต้นทุนเพิ่มในการจัดแคมเปญทางการตลาด เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นให้แก่กลุ่มผู้บริโภค ดังนั้น เซ็นทรัล รีเทล จึงต้องมีการบริหารจัดการที่ครอบคลุมประเด็นความท้าทายต่าง ๆ
ถึงแม้จะมีความท้าทาย แต่เซ็นทรัล รีเทล ก็มองเห็นโอกาสจากการสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจของชุมชนและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ซึ่งช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับเซ็นทรัล รีเทล และสามารถดึงดูดลูกค้าที่ให้ความสำคัญต่อการจัดหาสินค้าอย่างมีจริยธรรมและความยั่งยืน นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวยังช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาด และการเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ ที่สนใจในผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ดังนั้น การสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจของชุมชนและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นจึงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการสร้างผลกระทบเชิงบวกและการเติมโตอย่างยั่งยืน
ผลกระทบต่อธุรกิจ ผู้มีส่วนได้เสีย และสิทธิมนุษยชน
การสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจของชุมชนและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อธุรกิจ เนื่องจากกิจกรรมเหล่านี้สามารถดึงดูดกลุ่มลูกค้าที่ให้ความสำคัญต่อเซ็นทรัล รีเทล ที่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคม จึงช่วยส่งผลให้เซ็นทรัล รีเทล มียอดขายและรายได้เพิ่มขึ้น และมีชื่อเสียงในเชิงบวก รวมทั้งสามารถสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้า นอกจากนี้ ยังช่วยสร้างความผูกพันระหว่างเซ็นทรัล รีเทล และชุมชน ส่งเสริมให้เกิดแรงสนับสนุนทางสังคมในการดำเนินกิจการร่วมกับชุมชนและผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มอื่น ๆ ได้มากยิ่งขึ้น
การสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจของชุมชนและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นเป็นแรงขับเคลื่อนที่ส่งผลกระทบเชิงบวกให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียของเซ็นทรัล รีเทล ในวงกว้าง เนื่องจากชุมชนที่เข้ามาเป็นคู่ค้าของเซ็นทรัล รีเทล จะได้รับความรู้และประสบการณ์จากเซ็นทรัล รีเทล ที่สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน ช่วยสร้างงาน พัฒนาช่องทางเข้าถึงตลาด และยกระดับคุณภาพชีวิต นอกจากนี้ เซ็นทรัล รีเทล ยังได้มีการสนับสนุนธุรกิจของชุมชน ส่งเสริมด้านการศึกษา และกิจกรรมอาสาต่าง ๆ ซึ่งมีส่วนสร้างเสริมความภาคภูมิใจและความสามัคคีของชุมชน และยังช่วยอนุรักษ์ภูมิปัญญาและประเพณีของท้องถิ่นไว้ด้วย
การสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจของชุมชนและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นของเซ็นทรัล รีเทล ยังช่วยให้พนักงานของเซ็นทรัล รีเทล สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมในด้านการพัฒนาตัวเองในทางอาชีพ การเสริมสร้างทักษะ ส่งเสริมความเป็นผู้นำ และช่วยสร้างเครือข่ายทางอาชีพ ในขณะที่ลูกค้าก็ได้รับประสบการณ์ในการเลือกซื้อสินค้าที่แตกต่างจากเดิมและสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ที่มาจากท้องถิ่นได้โดยตรง ในภาคส่วนรัฐบาลก็ได้รับประโยชน์ทางสังคมที่เกิดขึ้นจากการที่ เซ็นทรัล รีเทล มีส่วนร่วมช่วยแก้ไขปัญหาสังคมและแบ่งเบาภาระในการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนชุมชน ในส่วนของนักลงทุนและผู้ถือหุ้นจะได้รับผลประโยชน์ในแง่ผลตอบแทนจากการที่เซ็นทรัล รีเทล มีผลประกอบการดีขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการดึงดูดและรักษาฐานลูกค้า ชื่อเสียงที่ดีกว่าเดิมและการขับเคลื่อนการพัฒนานวัตกรรม ดังนั้น การสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจของชุมชนและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นจึงเป็นวงจรหมุนเวียนที่ดีแห่งการส่งเสริมความยั่งยืนและสร้างคุณค่าร่วมกับผู้มีส่วนได้เสีย
แนวทางการบริหารจัดการ
เพื่อให้การจัดการและกำกับดูแลการสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจของชุมชนและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นมีประสิทธิผล เซ็นทรัล รีเทล ได้กำหนดโครงสร้างการกำกับดูแลที่กำหนดบทบาท หน้าที่และความรับผิดชอบ โดยมีคณะกรรมการบรรษัทภิบาลและการพัฒนาที่ยั่งยืนทำหน้าที่กำหนดทิศทางเชิงกลยุทธ์และกำกับดูแลโครงการการสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจของชุมชนและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น
ตัวแทนด้าน ESG มีหน้าที่รายงานผลการดำเนินงานให้แก่ผู้บริหารและคณะกรรมการบรรษัทภิบาลและการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนทราบเป็นรายปี โดย ตัวแทนด้าน ESG และเจ้าหน้าที่ฝ่ายการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนทำหน้าที่ควบคุมการดำเนินงานภายใต้กลยุทธ์การสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจของชุมชนและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นของเซ็นทรัล รีเทล เพื่อบูรณาการกรอบการดำเนินงานด้านการสร้างคุณค่าร่วมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการประกอบธุรกิจ ซึ่งครอบคลุมถึงการจัดซื้อผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น การดำเนินงานร่วมกับองค์กรท้องถิ่นเพื่อให้สามารถเข้าถึงชุมชนได้ดียิ่งขึ้น ตลอดจนการจัดทำโครงการในระดับปฏิบัติการ ให้พนักงานอาสาได้เข้าร่วมกิจกรรมอาสาและแบ่งปันความรู้กับชุมชน และยังสามารถแนะนำแนวทางใหม่ ๆ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ทั้งนี้ เซ็นทรัล รีเทล ได้กำหนดนโยบายความรับผิดชอบต่อสังคมเพื่อสนับสนุนการสื่อสารและทำงานร่วมกันในทุกระดับอย่างมีประสิทธิผลอีกด้วย
กระบวนการสร้างคุณค่าร่วม (Creating Shared Values)
หนึ่งในเป้าหมายหลักของกลยุทธ์ ReNEW คือ การสร้างรายได้ 5,400 ล้านบาทต่อปีให้แก่ชุมชนภายในปี 2573 ทั้งนี้ เซ็นทรัล รีเทล ได้วางแผนที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวด้วยการขยายขอบเขตการดำเนินงานให้ครอบคลุมชุมชนต่าง ๆ มากขึ้น โดยมีกรอบการดำเนินงานการสร้างคุณค่าร่วมเป็นแนวทางหลักของเซ็นทรัล รีเทล ตามรายละเอียดดังนี้
นโยบายความรับผิดชอบต่อสังคม
1. การคัดเลือกชุมชน
เกณฑ์การคัดเลือกชุมชนและพื้นที่โครงการ ได้แก่
- มีผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและชุมชนมีศักยภาพในการพัฒนาผลิตภัณฑ์
- มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นทางด้านวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวิถีชีวิตชุมชน
- เป็นชุมชนที่ใส่ใจในเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติ การดูแลรักษาป่าไม้ และมีความพยายามในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในชุมชน
- ผู้นำชุมชนมีความเป็นผู้นำและพร้อมประสานกับสมาชิกชุมชนเพื่อขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกันตามเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพชีวิตและเพิ่มรายได้ให้ชุมชน
- ชุมชนมีความโปร่งใส
2. การมีส่วนร่วมกับชุมชน
เซ็นทรัล รีเทล ให้กับความสำคัญกับการมีส่วนร่วมกับชุมชน ผ่านการสำรวจความคิดเห็น สนทนากลุ่ม และกิจกรรมสาธารณะในการรับฟังข้อคิดเห็นและข้อมูลต่าง ๆ ทั้งนี้ เพื่อให้โครงการที่เกี่ยวกับการพัฒนาชุมชนและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นมีความสอดคล้องและตรงกับตามความต้องการของชุมชนที่แท้จริง
3. การบูรณาการด้านการพัฒนาชุมชนและการเพิ่มคุณค่า
การออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์
- ร่วมมือกับชุมชนเพื่อใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านและประเพณีท้องถิ่นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่และนวัตกรรม
- ยกระดับผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นเพื่อให้ดึงดูดลูกค้าในตลาดสากลได้มากขึ้นผ่านคุณลักษณะสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม
การเสริมสร้างศักยภาพ
- แบ่งปันความรู้และความชำนาญด้านธุรกิจค้าปลีกให้กับสมาชิกของชุมชน ครอบคลุมทั้งด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ เทคนิคการผลิต การควบคุมคุณภาพและการตลาด เป็นต้น
การให้การสนับสนุนสิ่งอำนวยความสะดวกและอุปกรณ์
- สนับสนุนการลงทุนด้านสถานที่และอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการผลิตและบรรจุสินค้า
การให้การสนับสนุนด้านช่องทางการจัดจำหน่าย
- ใช้ประโยชน์จากช่องทางการขายในการสนับสนุนและสร้างคุณค่าร่วมกับชุมชนผ่านห้างสรรพสินค้า แพลตฟอร์มออนไลน์และโครงการเพื่อชุมชนต่าง ๆ เช่น จริงใจ ฟาร์มเมอร์ มาร์เก็ต
4. การติดตามและประเมินผลอย่างต่อเนื่อง
- ติดตามความคืบหน้าและผลกระทบจากโครงการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อระบุสิ่งที่สามารถปรับปรุงและสามารถสร้างผลประโยชน์ในระยะยาวให้ชุมชนและเซ็นทรัล รีเทล
- สร้างเสริมการสื่อสารและการมีส่วนร่วมกับชุมชนผ่านการจัดสนทนากลุ่มเป็นประจำทุกปี เพื่อปรับปรุงโครงการให้ตรงตามความต้องการและบริบทที่อาจมีการเปลี่ยนแปลง
- สร้างช่องทางร้องเรียนเพื่อปกป้องดูแลชุมชนและสังคมที่เกี่ยวข้อง แม้จะไม่พบปัญหาใดเลยก็ตาม
โครงการสำคัญ
จริงใจ ฟาร์มเมอร์ มาร์เก็ต
ด้วยความมุ่งมั่นที่จะสร้างคุณค่าร่วมกับชุมชน เซ็นทรัล รีเทล ได้ริเริ่มโครงการจริงใจ ฟาร์มเมอร์ มาร์เก็ต เพื่อเชื่อมเกษตรกรท้องถิ่นมาพบกับผู้บริโภคโดยตรง โครงการได้เปิดโอกาสให้เกษตรกรขายผัก ผลไม้ และสินค้าท้องถิ่น พร้อมพบปะกับผู้บริโภคและสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า แลกเปลี่ยนแนวคิด ความรู้ และเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรเอง ขณะที่ผู้บริโภคเองก็ได้ซื้อผลผลิตทางเกษตรที่สดใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ทั้งชุมชนและผู้บริโภคมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
โดยในปี 2566 โครงการจริงใจ ฟาร์มเมอร์ มาร์เก็ต ได้ขยายเพิ่มขึ้นเป็น 32 สาขา ใน 28 จังหวัดทั่วประเทศ สร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับเกษตรกรกว่า 40,000 ราย สร้างรายได้กว่า 300 ล้านบาท และสนับสนุนกว่า 10,200 ครัวเรือน จึงทำให้โครงการจริงใจ ฟาร์มเมอร์ มาร์เก็ต เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน
จริงใจ ฟาร์มเมอร์ มาร์เก็ต
เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์น่าน
เซ็นทรัล รีเทล ได้ริเริ่มสร้างเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนสินค้าอินทรีย์ จังหวัดน่าน ด้วยวัตถุประสงค์ในการพัฒนาศักยภาพคน สนับสนุนชุมชน และช่วยแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้ เซ็นทรัล รีเทล จึงได้สร้างเครือข่ายศูนย์เรียนรู้และโรงงานแปรรูปสินค้า เพื่อสนับสนุนสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นของชุมชน รวมถึงช่วยสนับสนุนการสร้างแบรนด์และการตลาด จากการสนับสนุนเหล่านี้ ทำให้เซ็นทรัล รีเทล มีแหล่งสินค้าอินทรีย์ที่มีคุณภาพ และยังส่งเสริมอาชีพของชุมชนท้องถิ่นให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนสินค้าอินทรีย์ จังหวัดน่าน ยังมีส่วนช่วยในการลดผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากการเพิ่มพื้นที่สีเขียวผ่านการปลูกพืชที่ยั่งยืน เช่น โกโก้ มะม่วงหิมพานต์ และฟักทอง โดยเครือข่ายนี้เสริมสร้างศักยภาพของสมาชิกในเครือข่ายรวมทั้งสิ้น 179 คน สนับสนุนสินค้าแปรรูปกว่า 16 รายการ เพิ่มพื้นที่สีเขียวได้มากถึง 257 ไร่ เพิ่มรายได้ให้ชุมชนกว่า 2.7 ล้านบาท และยังทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงผักผลไม้ประจำฤดูกาลได้มากขึ้นด้วย
ศูนย์การเรียนรู้พัฒนาผลผลิตการเกษตรและผลิตภัณฑ์ชุมชน บ้านเทพพนา
วิสาหกิจชุมชนบ้านเทพพนา ก่อตั้งขึ้น ณ จังหวัดชัยภูมิ ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาให้เป็นศูนย์เรียนรู้ของชุมชน ฟื้นฟูระบบนิเวศ และต่อยอดสู่เป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนยั่งยืน โดยศูนย์เรียนรู้ เปิดพื้นที่ให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ พัฒนาทักษะการทำเกษตร และผลิตสินค้าชุมชน เซ็นทรัล รีเทล ยังได้สนับสนุนในการสร้างพื้นที่เพื่อบรรจุและแปรรูปสินค้าเกษตร เพื่อให้การผลิตมีคุณภาพและประสิทธิภาพ ทั้งนี้ เซ็นทรัล รีเทล ยังได้สนับสนุนในการฟื้นฟูระบบนิเวศผ่านการจัดหาต้นกล้าอโวคาโดเพื่อนำไปปลูกบนพื้นที่กว่า 3,000 ไร่ นับเป็นการช่วยขยายพื้นที่สีเขียว และต่อยอดด้วยการสนับสนุนให้ขยายให้เป็นร้านค้าและคาเฟ่เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวในพื้นที่ อีกทั้งยังสนับสนุนชุมชนในการสร้างแบรนด์และส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าไปสู่ซุปเปอร์มาร์เก็ตของท็อปส์ โดยในปีที่ผ่านมา สามารถสร้างรายได้ราว 3 ล้านบาทให้แก่ชุมชน
สหกรณ์การเกษตรพืชผักอินทรีย์หนองสนิท
สหกรณ์การเกษตรพืชผักอินทรีย์หนองสนิทตั้งอยู่ในจังหวัดสุรินทร์ ดำเนินการด้วยวัตถุประสงค์ที่จะพัฒนาชุมชนผ่านการเกษตรและท่องเที่ยวที่ยั่งยืน เซ็นทรัล รีเทล ร่วมสนับสนุนกิจการขององค์กรเพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการนํ้า สนับสนุนการทำปศุสัตว์ที่มีประสิทธิภาพ ขยายพื้นที่สีเขียวและส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืน โดยศูนย์การเรียนรู้ที่มีการจัดอบรมด้านการเกษตรหลากหลายหลักสูตรให้แก่ชุมชน เซ็นทรัล รีเทล ยังช่วยยกระดับช่องทางการจัดจำหน่ายพืชผักเกษตรอินทรีย์ เช่น หอมแดง ฟักเขียว หอมใหญ่ และข้าวหอมมะลิแดง นอกจากนี้ เซ็นทรัล รีเทล ยังส่งเสริมการผลิตปุ๋ยและปศุสัตว์ผ่านการสนับสนุนสหกรณ์ ส่งผลให้กำลังการผลิตผักและข้าวสูงขึ้นตลอดทั้งปี เพิ่มรายได้ให้ชาวบ้านและส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน