การกำกับดูแลกิจการและจรรยาบรรณธุรกิจ

เซ็นทรัล รีเทล มุ่งมั่นยึดหลักการดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใสและรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสีย บนพื้นฐานของการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจรรยาบรรณธุรกิจ ทั้งนี้ การรักษามาตรฐานอย่างครอบคลุมในกระบวนการดำเนินธุรกิจ มีความซับซ้อนและท้าทาย เซ็นทรัล รีเทล จึงได้กำหนดนโยบายต่าง ๆ ภายใต้การดูแลของคณะกรรมการบริษัท และคณะกรรมการบรรษัทภิบาลและการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน ควบคู่ไปกับการใช้มาตรการป้องกันและการฝึกอบรมพนักงานเพื่อรับมือกับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง จากความพยายามเหล่านี้ จึงได้รับความไว้วางใจจากผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งนำไปสู่ความพึงพอใจต่อแบรนด์ และความสามารถในการเข้าถึงเงินทุนที่สูงขึ้น ความมุ่งมั่นนี้ส่งเสริมให้บริษัทสามารถดึงดูดและรักษาพนักงานที่มีความสามารถสูง ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพโดยรวมขององค์กรในท้ายที่สุด

ผลกระทบต่อธุรกิจ ผู้มีส่วนได้เสีย และสิทธิมนุษยชน

การกำกับดูแลกิจการและจรรยาบรรณธุรกิจที่มีประสิทธิภาพส่งเสริมให้บริษัทมีผลกำไรและยั่งยืน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน การควบคุมภายในที่แข็งแกร่งช่วยส่งเสริมให้เกิดความโปร่งใส ลดการทุจริต ปกป้องเสถียรภาพทางการเงิน สร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนและเพิ่มมูลค่าหุ้น ซึ่งผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม อันประกอบด้วย พนักงาน คู่ค้า ลูกค้า ชุมชน และหน่วยงานภาครัฐ ล้วนได้รับผลประโยชน์ โดยพนักงานจะได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรม มีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัย และมีการนำองค์กรอย่างมีจริยธรรม คู่ค้าได้รับการปฏิบัติอย่างยุติธรรมและเชื่อถือได้ ลูกค้าได้รับการบริการและผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและปลอดภัย รวมถึงมีการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่มีผลกระทบต่อชุมชนอย่างมีความรับผิดชอบ รัฐบาลได้รับประโยชน์จากรายได้ภาษีที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งนักลงทุนและผู้ถือหุ้นได้รับความมั่นคงจากผลกำไรที่ยั่งยืน

ในทางกลับกัน การกระทำผิดจรรยาบรรณก่อให้เกิดความเสียหายต่อทั้งธุรกิจและผู้มีส่วนได้เสีย การควบคุมภายในที่อ่อนแอนำไปสู่ปัญหาการทุจริตและข้อพิพาททางกฎหมาย ส่งผลต่อความไว้วางใจและความสามารถในการทำกำไร การประพฤติมิชอบส่งผลต่อชื่อเสียงและยอดขาย พนักงานได้รับผลกระทบจากการถูกเอารัดเอาเปรียบและสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ไม่ปลอดภัย ในขณะที่คู่ค้าเผชิญกับการสูญเสียทางการเงิน ลูกค้าได้รับผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตราย และชุมชนต้องทนต่อความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อม ภาครัฐสูญเสียรายได้ทางภาษีซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการบริการ และนักลงทุนเผชิญกับความสูญเสียทางการเงินและผลกำไรที่ลดลง

แนวทางการบริหารจัดการ

ความโปร่งใสและความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียเป็นรากฐานสำคัญสำหรับการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจรรยาบรรณธุรกิจที่มีประสิทธิผลในตลาดที่มีการแข่งขันสูงและคำนึงถึงจริยธรรมมากยิ่งขึ้น เซ็นทรัล รีเทลจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการบริษัท ที่มีจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ มีความรู้ความเชี่ยวชาญหลากหลาย และมีประสบการณ์ทำงานด้านธุรกิจค้าปลีก เพื่อกำกับดูแลการดำเนินธุรกิจให้มีความโปร่งใสและรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม

รวมถึงมีการจัดตั้งคณะกรรมการบรรษัทภิบาลและการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน เพื่อช่วยกำกับดูแลการดำเนินงานด้านบรรษัทภิบาลและจรรยาบรรณธุรกิจของเซ็นทรัล รีเทล ให้มีประสิทธิผล ตลอดจนมั่นใจได้ว่า มีการบูรณาการที่มีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งแนะนำและให้แนวทางในการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับการดำเนินงานด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีและการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้แก่ เซ็นทรัล รีเทล อย่างต่อเนื่อง

โครงสร้างการกำกับดูแลกิจการ (ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566)

นอกจากนี้ เซ็นทรัล รีเทล ได้กำหนดนโยบายเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรมในทุกมิติ โดยได้จัดทำนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี และนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน เพื่อเป็นแนวปฏิบัติและกำหนดการตัดสินใจอย่างมีความรับผิดชอบต่อพนักงานและผู้มีส่วนได้เสียอย่างชัดเจน และเพื่อตอกย้ำความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใสและรับผิดชอบ เซ็นทรัล รีเทล ได้กำหนดนโยบายการแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับการกระทำผิด ซึ่งเป็นช่องทางให้ผู้มีส่วนได้เสียรายงานพฤติกรรมที่ผิดจรรยาบรรณ ในขณะที่มีมาตรการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียเสนอข้อร้องเรียนได้อย่างเต็มที่ โดยให้ระบบนี้ส่งเสริมวัฒนธรรมของการสื่อสารแบบเปิดและส่งเสริมให้กับผู้มีส่วนได้เสียในการมีส่วนร่วมในการดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรมมากยิ่งขึ้น

องค์ประกอบของคณะกรรมการบริษัท

กรรมการที่เป็นผู้บริหาร
2
คน
กรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหาร
13
คน
กรรมการอิสระ
5
คน
กรรมการเพศหญิง
4
คน

เซ็นทรัล รีเทล มีองค์ประกอบและคุณสมบัติของคณะกรรมการที่เหมาะสมตามที่กำหนดไว้ โดยมีความหลากหลายด้านทักษะ ความชำนาญ ความรู้ ประสบการณ์ เพศ และอายุ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจ มีสัดส่วนกรรมการอิสระที่เหมาะสม โดยคณะกรรมการบริษัท ประกอบด้วย กรรมการจำนวน 15 คน ซึ่งเพียงพอต่อการกำกับดูแลการดำเนินงานของบริษัท

ในปี 2566 คณะกรรมการบริษัท โดยคณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน ได้พิจารณาให้เพิ่มฐานผู้สมัครกรรมการเพศหญิง และที่ประชุมผู้ถือหุ้นของเซ็นทรัล รีเทล ประจำปี 2567 ได้แต่งตั้ง คุณสุกุลยา เอื้อวัฒนะสกุล เป็นกรรมการเพศหญิงเพิ่มเติม

คู่มือการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจรรยาบรรณองค์กร

เพื่อให้มั่นใจว่าคณะกรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน และบุคคลที่เกี่ยวข้องของ เซ็นทรัล รีเทล ทำงานด้วยความรับผิดชอบ ซื่อสัตย์ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีจริยธรรมต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย เซ็นทรัล รีเทล จึงจัดทำคู่มือการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจรรยาบรรณองค์กร เพื่อรวบรวมเป็นแนวปฏิบัติในหัวข้อต่าง ๆ เช่น บทบาทและความรับผิดชอบ คำแนะนำในการนำไปปฏิบัติและการกำกับดูแล ช่องทางการแจ้งเบาะแส กระบวนการปฏิบัติตามกฎระเบียบ และนโยบายทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับจรรยาบรรณองค์กร คู่มือดังกล่าวได้เผยแพร่ต่อสาธารณะบนเว็บไซต์ของ เซ็นทรัล รีเทล และทำการทบทวนอยู่เป็นประจำทุกปี โดยคู่มือได้เผยแพร่ผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น อีเมล อินทราเน็ต และการฝึกอบรม รวมทั้งพนักงานจะต้องรับทราบและลงนามเพื่อปฏิบัติตามคู่มืออย่างเคร่งครัด

คู่มือการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจรรยาบรรณองค์กร

แนวปฏิบัติต่อการกระทำผิดของพนักงาน

กรณีพนักงานไม่ปฏิบัติตามจรรยาบรรณจะถูกสอบสวนและพิจารณาโทษทางวินัยตามข้อบังคับการทำงานของบริษัท ซึ่งรวมถึงการเลิกจ้างและอาจถูกดำเนินการทางกฎหมาย นอกจากนี้ การสนับสนุนให้ผู้อื่นกระทำผิดจรรยาบรรณ การละเว้น หรือเพิกเฉยเมื่อพบเห็นการไม่ปฏิบัติตามจรรยาบรรณ หรือการขัดขวางกระบวนการสืบสวนข้อเท็จจริง และการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อผู้ให้ข้อเท็จจริง ถือเป็นการไม่ปฏิบัติตามจรรยาบรรณเช่นกัน

นอกจากนี้ กรณีพนักงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต การคอร์รัปชัน การให้และรับสินบน และการฉ้อโกง จะถูกลงโทษทางวินัยโดยการให้พ้นสภาพการเป็นพนักงาน โดยผู้แจ้งเรื่องร้องเรียนจะได้รับการแจ้งให้ทราบถึงกระบวนการและผลการตรวจสอบ รวมทั้งมาตรการแก้ไข และพนักงานต้องรับผิดชอบในการเยียวยาค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งเซ็นทรัล รีเทล จะพิจารณาดำเนินการตามกฎหมาย

สำหรับกรณีที่มีการกระทำผิดที่เกี่ยวข้องกับลูกค้า เซ็นทรัล รีเทล จะติดต่อลูกค้าเพื่อขออภัย ชี้แจงและชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ เซ็นทรัล รีเทล ได้กำหนดมาตรการป้องกันการกระทำผิด รวมถึงการปรับปรุงระบบควบคุมภายใน และเพิ่มการฝึกอบรมด้านจรรยาบรรณธุรกิจ เพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำผิดในอนาคต

เซ็นทรัล รีเทล มีการทบทวนนโยบาย ขั้นตอนการปฏิบัติงาน และคู่มือการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจรรยาบรรณองค์กรเป็นประจำทุกปี เพื่อให้มั่นใจได้ว่า สอดคล้องตามแนวปฏิบัติที่ดีและมาตรฐานอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง โดยพนักงานทุกคนจะได้รับแจ้งการแก้ไขผ่านทางอีเมลและอินทราเน็ต

นโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี
นโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน
นโยบายการแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับการกระทำผิด

โครงการสำคัญ

การบริหารจัดการตามหลัก GRC (Governance, Risk, and Compliance)

เซ็นทรัล รีเทล ได้นำแนวทางการบริหารจัดการตามหลัก GRC - Governance, Risk, and Compliance มาปรับใช้เพื่อตอกย้ำความมุ่งมั่นในการกำกับดูแลกิจการและจรรยาบรรณธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ โดย GRC ยังส่งเสริมการดำเนินงานแบบองค์รวม สร้างความสอดคล้องระหว่างเป้าหมายเชิงกลยุทธ์กับการจัดการความเสี่ยง ส่งเสริมการปฏิบัติตามกฎระเบียบ และปลูกฝังจริยธรรมในทุกด้านของ เซ็นทรัล รีเทล นอกจากนี้ GRC ยังส่งเสริมการปฏิบัติตามกฎหมายและมาตรฐานอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงของการถูกปรับ ความเสียหายทางด้านชื่อเสียง และข้อพิพาททางกฎหมาย

การรับทราบและฝึกอบรมจรรยาบรรณองค์กร

เซ็นทรัล รีเทล ได้จัดให้มีการฝึกอบรมจรรยาบรรณองค์กรและสร้างการรับรู้ให้กับกรรมการและพนักงาน เพื่อให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ การกำกับดูแลกิจการ และบทบาทที่เกี่ยวข้องในการรักษาจรรยาบรรณองค์กรของ เซ็นทรัล รีเทล โดยได้จัดทำหลักสูตรการฝึกอบรมที่ครอบคลุมหัวข้อต่างๆ ดังต่อไปนี้

  • การทุจริตคอร์รัปชัน
  • การใช้ข้อมูลภายในเพื่อแสวงหาประโยชน์
  • การป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์
  • การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA)
  • การรักษาความปลอดภัยด้านข้อมูลสารสนเทศ
  • การปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชน
  • หลักจรรยาบรรณองค์กร
  • การแจ้งเบาะแสหรือเรื่องร้องเรียน

นอกจากนี้ เซ็นทรัล รีเทล ยังใช้ช่องทางการสื่อสารที่หลากหลาย ทั้ง VDO Clip, Desktop Wallpaper, Email, Line Group, Microsoft Teams และ Speedy Quiz เพื่อให้มั่นใจว่าการสื่อสารเรื่องจริยธรรมและจรรยาบรรณองค์กรสามารถเข้าถึงพนักงานทุกคน

โดยในปี 2566 คณะกรรมการ ร้อยละ 100 และพนักงานในประเทศไทยร้อยละ 97 แบ่งเป็นระดับบริหารร้อยละ 97.84 และพนักงานทั่วไปร้อยละ 96.63 รับทราบและเข้าอบรมหลักสูตร โดยผู้เข้าร่วมร้อยละ 100 ผ่านการทดสอบหลักจรรยาบรรณองค์กร

CAC Change Agent

ในปี 2565 ถึงปี 2568 เซ็นทรัล รีเทล ได้รับการรับรองในฐานะสมาชิกแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (Thai Private Sector Collective Action Against Corruption : CAC) เพื่อเสริมสร้างแนวปฏิบัติในการต่อต้านการทุจริตและเพิ่มความโปร่งใสทั่วทั้งห่วงโซ่อุปทาน ในปี 2567 เซ็นทรัล รีเทล ได้เชิญชวนคู่ค้าเพื่อเข้าร่วมเป็นสมาชิกแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (CAC) และเพื่อปูทางให้คู่ค้า เซ็นทรัล รีเทล ในฐานะสมาชิก CAC ได้จัดให้มีการฝึกสอน การแบ่งปันความรู้ ผ่านระบบ Zoom เพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามกระบวนการประกาศ CAC ให้แก่คู่ค้า โดยโครงการนี้ช่วยขยายระบบนิเวศของการดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรมของ เซ็นทรัล รีเทล และเพิ่มความไว้วางใจของผู้มีส่วนได้เสีย